Frostpunk

Frostpunk

190 ratings
บทสรุปและเทคนิคการเล่น Frostpunk
By Binary010110
ฉบับนี้ฉบับเดียวเพียงพอ รวบรวมเนื้อหา เทคนิค หลักวิธีคิด ตลอดจนแนวทางการเล่นต่างไว้ที่นี่แล้ว ณ.ตอนนี้คือบทสรุปที่สมบูรณ์แบบที่สุดสำหรับแฟน Frostpunk ชาวไทยครับ
9
   
Award
Favorite
Favorited
Unfavorite
บทนำ




ปี 1886 ขณะที่อารยธรรมของมนุษย์กำลังเจริญรุดหน้า เฉียบพลันนั้นความหนาวเย็นได้มาหยุดทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ ไม่มีใครรู้ว่ามันมาจากไหน ปราศจากสัญญาณเตือนใดๆ มันเล่นงานพวกเราทุกคนโดยไม่เลือกชนชั้นและฐานะ เหมือนดั่งจะลบร่องรอยของมนุษย์ให้หมดไปจากผืนโลก เหมันต์นิรันดร์กำลังกลืนกินโลกเก่าของเราอย่างช้าๆ



หลายคนจากไป แต่สำหรับคนที่ยังรอดชีวิตอยู่ มันคือเวลาแห่งการปรับตัว เราตัดสินใจออกจากลอนดอน(London) มุ่งหน้าทิศเหนือ ยุรยาตรสู่โลกขาวโพลนอันไร้ที่สิ้นสุด ผ่านไปหลายสัปดาห์ หลายเดือน โดยละทิ้งทุกสิ่งที่เรารู้จักไว้เบื้องหลัง มีเพียงความหวัง ที่คอยผลักดันให้เราเก้าเดินต่อไป ทีละก้าว อย่างช้าๆ การเดินทางอันยาวไกลมีราคาที่ต้องจ่าย และพวกเราก็จ่ายสิ่งนั้นอย่างสาสม

ในที่สุดการเดินทางของเราก็จบลง
เวลาแห่งการสร้างเมืองอันเป็นความหวังสุดท้ายของมนุษยชาติมาถึงแล้ว...
คำนำผู้เขียนและภาพรวมเกม


ขอชี้แจงไว้ก่อน ที่ผมจัดทำบทสรุปนี้ เพราะผมชอบเกมนี้มากและอยากให้ทุกท่านได้สนุกไปกับมัน แต่ทั้งนี้หากท่านอยากเสพย์อรรถรสจากเกมอย่างเต็มที่ ผมแนะนำว่าต้องลองไปเล่นด้วยตัวเองดูก่อนครับ ในกรณีติดขัดตรงไหนค่อยใช้บทสรุปนี้ช่วยแก้ไขปัญหา ตัวบทสรุปนี้มีความละเอียด มันสปอยเหตุการณ์ทุกอย่างในเกม บางครั้งผมรู้สึกเหมือนใส่ความคิดเห็นส่วนตัวค่อนข้างเยอะ (การแปลเฉยๆโดยไม่สอดแทรกความคิดเห็น ไม่ใช่ผลงานของผม) จนบางทีมันดูจะจูงมือคนเล่นเกินไป แต่ทั้งนี้มนุษย์เรามีทางแก้ปัญหาที่ต่างกัน ตัวผมไม่จำเป็นต้องถูกเสมอไป หรือต่อให้ถูกจริง ก็ไม่ใช่ว่าแนวทางของคนอื่นจะผิด จริงๆตัวผมก็อยากเห็นความคิดสร้างสรรค์ในแนวทางการเล่นของคนอื่น ดังนั้นหากมีข้อเสนอแนะอะไรขอให้ทุกท่านทิ้ง comment ไว้ข้างใต้ได้เลยครับ

กล่าวโดยสรุป Frostpunk คือ city building game ที่มีแก่นอันน่าสนใจมาก เมื่อความมุ่งมั่นของมนุษย์ถูกท้าทายด้วยฤดูหนาวที่ดูเหมือนไร้ที่สิ้นสุด คุณต้องคอยดูแลเมืองที่เป็นความหวังสุดท้ายของมนุษยชาติให้อยู่รอดต่อไปได้ เป็นเกมสร้างเมืองที่มีกลิ่นอายความเป็น survival สูง ด้วยสภาพแวดล้อมที่กดดันและทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด คุณจะถูกทดสอบด้วยตัวเลือกทางจริยธรรมมากมาย มันตั้งคำถามตัวผู้เล่นว่าเพื่อความอยู่รอดวิธีการของคุณคืออะไร คุณจะยอมสูญเสียสิ่งใดไปบ้าง และหากอยู่รอดได้แล้วสังคมที่เราหล่อหลอมขึ้นมาจะอยู่ในสภาพไหนในตอนจบ

ศิลปะในเกมเป็นลักษณะ Steampunk สอดแทรกด้วยเพลงประกอบที่สื่ออารมณ์ได้ดี เหนือสิ่งอื่นใดคือเนื้อหาที่ถูกสอดแทรกมาให้ข้อคิดได้น่าสนใจ ผมเชื่อว่าเมื่อคุณเลือกแนวทางใดทางหนึ่งไปแล้ว อนาคตคุณย่อมอยากกลับมาเลือกแนวทางใหม่ๆภายหลัง ตัวเกมนั้นถือว่าเรียนรู้ได้ง่าย แต่ต้องใช้เวลาที่จะเชี่ยวชาญ โดยรวมมันไม่ใช่เกมสร้างเมืองชิวๆแต่มันถูกกดดันด้วยเรื่องต่างๆ ฝึกสมองของเราให้คิดแก้ปัญหาอยู่ตลอดเวลา

ประเด็นหลักของเกมคือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำการวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ปลดล็อคกฎหมายมากำหนดกติกาของสังคม ออกสำรวจไปยังสถานที่ต่างๆเพื่อค้นหาทรัพยากรและผู้รอดชีวิตอื่นๆ ดูแลประชาชนไม่ใช่แค่ให้พึงพอใจแต่ต้องมีความหวังในการสู้ชีวิตในโลกอันโหดร้ายต่อไปได้ด้วย

*ทางผู้พัฒนาคือ 11 bit studios ผู้สร้าง This War of Mine นั่นเอง พวกเขาเรียกเกมของเขาว่าเป็นแนว society survival game ด้วยซ้ำ (ไม่ใช่ city building game ธรรมดา) เท่าที่ทราบ ผมไม่เคยเจอศัพท์นี้บัญญติให้กับเกมไหนเลยในอดีต*
ทรัพยากร และการบริหารทรัพยากร


ในเกมนี้ ทรัพยากรหลักมี 4 อย่างได้แก่
  • Coal (ถ่านหิน) : นี่ถือเป็นทรัพยากรหลักที่เป็นหัวใจสำคัญคอยหล่อเลี้ยงเมือง อีกทั้งยังเป็นทรัพยากรที่ได้มามากที่สุดและยังใช้ไปอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งเกมคุณจะต้องคอยควบคุม flow ของถ่านหินดีๆ เพราะถ้ามันหมดเครื่องกำเนิดความร้อนก็จะปิดตัวลง เมืองทั้งเมืองจะเริ่มมีปัญหาจากความหนาวทันที ถ่านหินมีวิธีการผลิตเอง 3 แบบ คือ Coal mining(ทำเหมือง) Coal thumper(แท่นฉีด) และ Charcoal kiln(เผาไม้ให้กลายเป็นถ่าน) ซึ่งผมจะแจกแจงรายละเอียดทีหลัง
  • Wood (ไม้) : เป็นทรัพยากรหลักในการสร้างสิ่งก่อสร้างตลอดจนการวิจัยต่างๆ การพัฒนาเมืองให้เติบโตจำเป็นต้องใช้ไม้อย่างต่อเนื่อง และเนื่องจากเราสามารถสร้างโรงเลื่อยไม้ได้ จึงเป็นทรัพยากรที่เร่ง output ได้ไม่ยาก ไม้มีวิธีผลิต 2 รูปแบบ คือ Sawmill(โรงเลื่อยไม้) และ Wall drill(ตัวเจาะกำแพง)
  • Steel (เหล็ก) : เป็นทรัพยากรที่ใช้ในการสร้างสิ่งก่อสร้างและการวิจัยเช่นเดียวกันกับไม้ แต่ยิ่งระดับเทคโนโลยีสูงขึ้น สัดส่วนการใช้เหล็กก็จะมากขึ้นเช่นกัน เหล็กมีวิธีผลิตแค่ทำ Steelworks(โรงเหล็ก) ซึ่งจะทำได้จำกัดฉากละ 2 โรง การที่เร่ง output ได้ลำบากมักทำให้เหล็กเป็นทรัพยากรคอขวดในช่วงกลางเกม (ขอแนะนำให้คุณบริหารมันให้ดีตอนได้มันมา)
  • Steam core : ถือเป็นทรัพยากรสำคัญในการสร้างของบางอย่างได้แก่ Coal mining / Wall drill / Hothouse / Infirmary และหุ่น automaton เป็นทรัพยากรที่มีจำนวนจำกัดอย่างยิ่ง คุณต้องคิดให้ดีทุกครั้งเวลาจะใช้มัน ยิ่งทำโรงงานระดับสูงที่ให้ผลผลิตมากขึ้นก็ยิ่งใช้ steam core มากขึ้น steam core เป็นทรัพยากรที่ผลิตเองไม่ได้ คุณจะได้เพิ่มเติมจากการสำรวจและoutpostที่เฉพาะเจาะจงเท่านั้น



ทรัพยากรรองมี 4 อย่าง (ปกติจะมีแค่อาหารดิบกับอาหารสุกแค่นั้น ทรัพยากรอื่นๆจะปลดล็อคเมื่อคุณอนุมัติกฎหมายบางอย่างโดยเฉพาะ)
  • Raw food (อาหารดิบ) : เป็นอาหารที่รอการปรุงแจกจ่าย ผลิตได้จากกระท่อมล่าสัตว์(Hunter's hut) หรือโรงเพาะชำ(Hot house)
  • Rations (อาหารพร้อมแจกจ่าย) : เป็นอาหารดิบที่ผ่านการปรุงโดย Cook house แล้ว คุณเลือกได้ว่าจะปรุงแบบธรรมดา ทำซุป หรือใส่ขี้เลื่อย ซึ่งแต่ละสูตรจะทำให้ได้จำนวนอาหารและคุณภาพอาหารแตกต่างกัน (ต้องปลดล็อคกฎหมาย) อาหารปรุงแล้วสามารถเก็บไว้ได้โดยไม่มีเน่าเสีย
  • Prostheses (ชิ้นส่วนอวัยวะเทียม) : ใช้เป็นอวัยวะสำหรับทดแทนในกรณีที่ผู้ป่วยเกิดความพิการจากการรักษา ถ้าไม่ใช้ชิ้นส่วนเทียม คนพิการก็จะนอนไปวันๆกินเตียงโรงพยาบาล กินอาหาร โดยคุณใช้เขาไปทำงานไม่ได้ จนกว่าจะมีชิ้นส่วนมาแก้ไขความพิการก่อน อวัยวะเทียมสามารถผลิตได้จากโรงงาน(Factory) แต่คุณต้องผ่านกฎหมายอนุญาตให้มีการใช้ชิ้นส่วนพวกนี้ก่อนจึงจะดำเนินการผลิตได้
  • ศพ (Bodies) : คุณต้องปลดล็อค snow pit หรือหลุมสำหรับเทรวมศพ ศพจะได้เพิ่มเมื่อมีคนตาย เมื่อปลดล็อคกฎหมายเพิ่มเติมจะใช้เป็นปุ๋ยให้โรงเพราะชำได้ และทำให้สถานพยาบาลมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น



การจัดการทรัพยากรเบื้องต้น
  • ควรมีโรงงานสำหรับเก็บทรัพยากรแต่ละแบบ แล้วทำการปรับจูน flow ของทรัพยากรโดยการโยกย้ายจำนวนคนงาน
  • เมื่อทรัพยากรใดๆไม่พอใช้ การแก้ปัญหาระยะสั้นคือการขยายกะการทำงานและกะฉุกเฉิน24ชม. ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวคือการสร้างโรงงานผลิตทรัพยากรนั้นๆเพิ่ม ทั้งนี้ควรเลือกแก้ปัญหาโดยพิจารณาสภาพแวดล้อมอื่นๆด้วย
  • scout เกมนี้สำคัญมาก ควรเร่งสำรวจและนำทรัพยากรมาเทเป็นระยะเพื่อกระตุ้นให้เมืองเจริญเติบโต คุณควรมี scout อย่างน้อย 2 กลุ่ม และเร่งวิจัยลดระยะเวลาเดินทางของ scout อย่างรวดเร็ว คุณอาจส่ง scout ไปสำรวจที่ใหม่ๆต่อเนื่องได้หากทรัพยากรที่เขาถืออยู่ยังไม่รีบใช้ โดยพอได้ทรัพยากรที่ต้องการค่อยเอากลับมาเทที่เมือง (Scout เก็บของได้ไม่อั้น แต่ต้องระวังตายเวลาสำรวจสถานที่บางแห่งที่เฉพาะเจาะจง)
  • ควรหมั่นสังเกตจำนวนถ่านหินว่าขาดดุลหรือไม่ โดยดูสรุปคร่าวๆได้ที่เตา generator หลัก
  • พยายามอย่าใช้ไม้และเหล็กหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่องานวิจัยที่เลือกไว้ใกล้เสร็จ การพัฒนาโรงงานให้มีไม้และเหล็กเพียงพอจะทำให้คุณสามารถวิจัยได้อย่างต่อเนื่อง
  • หากมี rations เหลือ คุณสามารถปิดครัว(cook house)ไปได้เลย เริ่มผลิต rations ใหม่ก็ต่อเมื่อมันหมด หรือ raw food กำลังจะเต็ม
  • หากคุณไม่มี steam core และจำเป็นต้องใช้ ต้องเลือกรื้อโรงงานหรือหุ่นยนต์เพื่อให้ได้ steam core กลับมาใช้ใหม่
  • หากทรัพยากรเริ่มเหลือ ให้สร้าง Resource depot เป็นระยะ เพราะถ้าทรัพยากรนั้นๆเต็มความจุกำลังการผลิตจะสูญเปล่าทันที อีกทั้ง depot พวกนี้ยังสามารถเปลี่ยนไปเก็บทรัพยากรอื่นๆตามที่เราต้องการได้ด้วย กว่าจะจบเกมบางทีคุณต้องสร้าง depot เยอะมากเลยล่ะ
การจัดการความร้อน
สภาพอากาศคือศัตรูหลักของเกมนี้ ความหนาวเย็นจะทำให้ประชาชนของคุณเจ็บป่วยอย่างรวดเร็ว การจัดการความร้อนจึงถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เมืองของคุณเติบโตต่อไปได้ท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ



Temperature overlay เป็นหน้าจอที่คุณต้องคอยเปิดมาดูอยู่เสมอ โดยมันจะบอกอุณหภูมิภายในสิ่งก่อสร้างดังนี้
- Comfortable (อุ่นสบาย) สีแดง
- Liveable (อยู่ได้) สีเหลือง *อย่างดีควรอุ่นระดับนี้ขึ้นไป*
- Chilly (เริ่มเย็น) สีเขียว *อย่างเลวควรอุ่นระดับนี้ขึ้นไป*
- Cold (หนาว) สีฟ้า
- Very cold (หนาวมาก) สีน้ำเงิน
- Freezing (เยือกแข็ง) สีม่วง *อย่าให้คนมาทำงานในสิ่งก่อสร้างพวกนี้เด็ดขาด*



นอกจากนี้คุณสามารถดูรายละเอียดอุณภูมิของสิ่งก่อสร้างได้ โดยเอาเมาส์ชี้ที่เทอโมมิเตอร์ของสิ่งก่อสร้างนั้นๆ



สิ่งที่ช่วยในการควบคุมอุณหภูมิมี 3 อย่าง
  • Generator : ตั้งอยู่กลางเมือง คุณสามารถอัพเกรดให้เตาผลิตความร้อนดีขึ้น ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น และประหยัดถ่านมากขึ้นได้ ในขั้นแรก(Lv.1)จะใช้ถ่าน 6 หน่วยต่อชั่วโมง ขั้นต่อไป(Lv.2)ต้องใช้ถ่าน +100% คือ 12 หน่วย และ Lv.3 18 หน่วย Lv.4 24 หน่วย การอัพเกรดเพิ่มรัศมีให้ผลแบบเดียวกัน คือ สมมติคุณเปิดเตา Lv.1 ไว้ รัศมีระดับ 1-4 จะใช้ถ่าน 6/12/18/24 ตามลำดับ (โดยคุณสามารถปรับ Lv.ความร้อนและรัศมีได้ตลอดเวลา) พึงระลึกไว้ว่าคุณต้องปรับเตาให้ระดับอุณหภูมิสิ่งก่อสร้างรอบๆพอดีเสมอ (ช่วงสีเขียวขึ้นไป จะให้ดีก็สีส้มเป็นอย่างต่ำ) การปรับพลังงานความร้อนสูงไปจะสิ้นเปลืองถ่านมหาศาล ส่วนการปรับพลังงานความร้อนต่ำเกินไปจะทำให้คนเริ่มเจ็บป่วย ดังนั้นควรตรวจสอบ Temperature overlay อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะทุกเช้า และตอนที่อุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง นอกจากนี้คุณสามารถกดดูดุลทรัพยากรถ่านหินแบบสรุปรวบยอดได้จากเตา ทุกครั้งที่มีการเพิ่มระดับพลังงานหรือเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตของถ่านหิน ต้องคอยมากดตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ถ่านหินขาดดุลนานๆเด็ดขาด สุดท้ายนี้ตัวเตามีความสามารถ overdrive ซึ่งจะกล่าวถึงด้านล่างต่อไป
  • Steam hub : เป็นปล่องความร้อนที่ช่วยกระจายพลังงานจากเตาไปยังพื้นที่รอบตัวมันเอง เหมาะที่จะสร้างคลอบคลุมพื้นที่รอบๆที่ความร้อนจากเตาตรงกลางยังไปไม่ถึง ตัวมันใช้ถ่านหิน 3 หน่วยต่อชั่วโมง แต่หากคุณอัพเกรดรัศมี มันจะใช้ถ่านหิน 6 หน่วยต่อชั่วโมง (คุณสามารถปรับรัศมีและระยะเวลาเปิดปิดปล่องได้ตลอดเวลา) ตัวปล่องจะกระจายความร้อนเท่ากับระดับความร้อนของเตาพลังงานหลักตอนนั้น ปล่องทุกปล่องและเตาพลังงานจะมีพื้นที่สีส้มบอกรัศมีตัวมัน ซึ่งไม่มีผลใดๆหากนำมาซ้อนทับกัน (ไม่ได้ร้อนขึ้นแต่อย่างใด) หากคุณอยากประหยัดถ่านก็สามารถเลือกระยะเวลาเปิดปิดให้สอดคล้องกับสิ่งก่อสร้างรอบๆ เช่นรอบๆเป็น workshop ทำงาน 8.00-18.00 คุณก็สามารถปรับเวลาของปล่องนั้นๆให้ทำงานตามนั้นได้ เพื่อประหยัดพลังงาน
  • Heater : ช่วยเพิ่มระดับพลังงานของสิ่งก่อสร้างนั้นๆ โดยเปิดปิดได้เสมอ ขั้นที่ 1 จะเพิ่ม 1 ระดับพลังงานความร้อน ใช้ถ่านหิน 1 หน่วยต่อชั่วโมง ขั้น 2 ก็เพิ่มระดับพลังงาน 2 ใช้ถ่าน 2 ขั้น 3 ก็เพิ่มระดับพลังงาน 3 ใช้ถ่าน 3 หลักๆคือใช้เพิ่มความร้อนให้สิ่งก่อสร้างที่ตั้งอยู่โดดๆรอบนอกไม่หนาวเย็นจนเกินไป นอกจากนี้ยังใช้เก็บตกเวลาดู Temperature overlay แล้วสิ่งก่อสร้างไหนเย็นเกินไปก็ต้องเปิด Heater ให้ ตอนไม่มีคนทำงานมันจะปิดอัตโนมัติ และจะเปิดเองเมื่อมีคนทำงานอยู่ข้างใน อย่างไรก็ตามหากคุณมีสิ่งก่อสร้างที่เปิด Heater วางอยู่ติดๆกันหลายอัน ให้พิจารณาสร้าง Steam hub แทน โดยดูว่าแบบไหนประหยัดถ่านมากกว่ากัน นอกจากนี้ Heater ยังสามารถเพิ่มระดับความร้อนของสิ่งก่อสร้างที่อยู่ในวงพลังงานอยู่แล้วได้ (เช่น ติด Steam hub มีโรงตัดไม้อุณหภูมิสีเขียว พอคุณเปิด Heater ก็กลายเป็นสีส้ม เป็นต้น)

ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
  • สภาพอากาศในแต่ละช่วงเวลาของวัน : อากาศกลางคืนจะเย็นกว่ากลางวันทำให้คนเจ็บป่วยง่ายกว่าเสมอ คนที่อยู่ในสิ่งก่อสร้างที่เก็บความร้อนไม่ดีเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะพวกนอนเต๊นท์และพวกที่ทำงานกะ24ชม.
  • สภาพอากาศในแต่ละวัน : ยิ่งเวลาผ่านไปอากาศจะยิ่งหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ บีบให้คุณต้องอัพเกรดเตา สร้างบ้านและอัพเกรดสิ่งก่อสร้างเป็นระดับที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามการเพิ่มและลดของอุณหภูมิเกมจะบอกไว้ล่วงหน้าทำให้คุณเตรียมตัวรับมือได้ ทุกครั้งที่อุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงแนะนำให้คุณตรวจสอบ Temperature overlay และแก้ไขอุณหภูมิให้เหมาะสมเสมอ



เสริมเรื่องการใช้ overdrive
  • overdrive คือ การเร่งอุณหภูมิเตาให้สูงขึ้นชั่วขณะ โดยแลกกับค่าความเสื่อมของเตา มันไม่เปลืองถ่านเพิ่ม แต่ต้องคอยปิดพักเพื่อไม่ให้เตาระเบิด
  • หากวันใดอุณหภูมิลดต่ำลง ส่องTemperature overlayแล้วพบสิ่งก่อสร้างที่เย็นเป็นจำนวนมาก คุณต้องเพิ่มระดับพลังงานของเตา Generator อย่างไรก็ตามมันต้องใช้เวลาเพิ่มอุณหภูมิสักแป๊ปนึง ช่วงระหว่างนั้นคุณอาจใช้ overdrive เร่งอุณหภูมิขึ้นไปก่อนให้สิ่งก่อสร้างต่างๆไม่เย็นจนเกินไป พอเตาถึงระดับพลังงานที่ต้องการค่อยปิด overdrive
  • อากาศตอนช่วงกลางคืนมักจะหนาวกว่ากลางวันเสมอ คุณอาจเลือกเปิด overdrive กลางดึกเพื่อลดจำนวนคนป่วยในคืนนั้น และพักเตาช่วงกลางวัน
  • อาจเลือกทำการสลับระดับพลังงานเพื่อประหยัดถ่านหินเพิ่มเติม โดยใช้ overdrive ช่วย เช่น lv.2 สลับกับ lv.1+overdrive
  • เมื่อ overdrive จนเตาพลังงานเกินจะรับได้ มันจะระเบิด แต่ก่อนระเบิดจะมีให้เลือกคุณบูชายัญเด็ก1คน(เสียสละไปซ่อมเตา) กับเสียสละ steam core ซึ่งหากไม่ทำ มันก็จะระเบิดนั่นแหละ
การเจ็บป่วยและความตาย


ระดับการเจ็บป่วยจะมี 2 ระดับ
- เจ็บป่วยธรรมดา (Sick) นอนรพ.เฉยๆสักพักก็หายครับ หากคุณไม่รักษาสักระยะจะกลายเป็น Gravely ill
- เจ็บป่วยหนัก (Gravely ill) คุณต้องเลือกว่าจะรักษาอย่างไร ขึ้นกับกฎหมายที่คุณเลือก หากคุณไม่รักษาสักระยะคนไข้จะตายไปเลย กฎหมายที่ว่ามีดังนี้
  • Radical treatment : พยายามรักษาให้หายขาดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มีโอกาส 30% ที่จะเกิดความพิการ และหากพิการ(Cripples)แล้วคนๆนั้นจะทำงานอะไรไม่ได้เลย นอนกินทรัพยากร แถมเปลืองเตียงในรพ.ด้วย แก้ได้โดยสร้าง care house ให้คนพิการทั้งหลายไปอยู่
  • Sustain life : การรักษาแบบยื้อชีวิต คอยถ่วงเวลาให้มีลมหายใจไปก่อน จนกว่าเราจะมีศักยภาพในการรักษาเพิ่มเติม(สร้างinfirmaryได้) แน่นอนว่าเปลืองอาหาร เปลืองเตียง สามารถแก้ได้โดยสร้าง care house ให้คนป่วยหนักทั้งหลายไปกองรวมกันอยู่เช่นกัน

สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับสุขภาพ
- Medical post : เต๊นท์พยาบาลเริ่มต้น ไม่ต้องวิจัยเพื่อปลดล็อค มี5เตียง
- Infirmary : โรงพยาบาล ต้องวิจัยเพื่อปลดล็อค ใช้ steam core ด้วยหนึ่งอันในการสร้าง มี10เตียง สามารถรักษาผู้ป่วย Gravely ill ได้
- House of healing : ได้จากการปลดล็อคกฎหมายในสาย Faith ประสิทธิภาพการรักษารองจาก Infirmary เล็กน้อย ใช้ Ration ในการดำเนินการ ไม่จำเป็นต้องใช้ Steam core ในการสร้าง และคนงานธรรมดาสามารถทำงานที่นี่ได้ มี10เตียงเช่นกัน ข้อเสียคืออาจมีผู้ป่วยสมัครใจจะตายนานๆครั้ง
- Care house : ให้พวกคนป่วยหนักกับคนพิการมานอนพัก และจะแช่อยู่ในนั้นจนกว่าจะมีการรักษาเพิ่มเติม

การเจ็บป่วยหลักๆจะเกิดขึ้น 3 ลักษณะ คุณจำเป็นที่จะต้องดูว่าการเจ็บป่วยเกิดขึ้นตอนไหน เพื่อที่จะพยายามระบุสาเหตุและแก้ไขให้ทันท่วงที
  • การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างวัน : แปลว่ามีที่ทำงานที่หนาวเกินไป ให้เปิด temperature overlay และพยายามทำให้ที่ทำงานทุกที่อุ่นในระดับ liveable (เหลือง) หรืออย่างเลวร้ายสุดก็ไม่ต่ำกว่าระดับ chilly (เขียวอ่อน) โดยพยายามเปิด heater หรือใช้ steam hub ช่วย ในกรณีที่ได้ไม่คุ้มเสียให้ให้ปิดสถานที่ทำงานนั้นๆและเอาคนออกทั้งหมด ย้ายไปทำงานยังที่ๆอุ่นกว่าแทน
  • การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นตอนกลางคืน : มักเป็นช่วง 5 ทุ่มถึงตี 3 หากไม่มีใครทำงานอยู่แต่ยอดคนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตเกิดจากที่พักมีค่าความเป็นฉนวนน้อย (insulation) อย่างเช่นใช้เต็นท์ จากประสบการณ์พบว่าในความยากระดับ hard แม้อุณหภูมิที่พักจะเป็นสีส้มก็ตาม ยอดคนป่วยจะพุ่งอย่างล้นหลามเพราะมันเป็นเต๊นท์ การแก้ไขคืออัพเกรดที่พักเป็น bunkhouse และ house ตามลำดับ
  • การเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากการทำงานตอนกลางคืน : มีสองกรณีคือคนงานทำงานในที่ทำงานที่อากาศเย็นเพราะอุณหภูมิตอนกลางคืนลดต่ำ และอีกกรณีคือคนงานลุยหิมะไปสร้างสิ่งก่อสร้างกลางค่ำกลางคืน (ขยายความข้างล่าง)

คุณสามารถลดการเจ็บป่วยได้โดยเรียนรู้พฤติกรรมการสร้างสิ่งก่อสร้างของคนงาน
- ช่วง 6.00 และหลังเลิกงาน คนงานจะเริ่มการก่อสร้างสิ่งต่างๆที่เรากำหนด หากสร้างเสร็จมันจะมองหาที่สร้างอันต่อไป จนกว่าจะสร้างเสร็จหมดทุกอัน หรือจำนวนคนก่อสร้างเต็ม จึงจะไปทำงานของตัวเองตามปกติ(ขึ้นกับกะที่ทำ) ตัวอย่างเช่น ตอน 6.00 มีของรอสร้าง 4 ที่และคุณมีแรงงาน 80 คน คนจำนวน 40 คนจะไปสร้าง(10/10 จำนวน4ที่) ที่เหลืออีก 40 คนจะรอเข้างาน
- หากคุณสร้างของตอนกลางคืน : คนงานจะเริ่มออกมาสร้างมันตอน 6.00 น. จะสร้างทุกรายการจนเสร็จ เมื่อทำงานเสร็จก็จะกลับไปทำงานตัวเองตามปกติ
- หากคุณสร้างของระหว่างวัน : คนงานที่ไม่มีงานทำจะมาสร้างมัน และหากทุกคนมีงานทำต้องรอให้มีคนเลิกงาน(หมดกะของตัวเอง) เพื่อเริ่มการก่อสร้าง
- หากระหว่างวันคุณสร้างของเยอะมากหรือสร้างของหลังช่วงเลิกงาน : คนงานที่เลิกงานทั้งหลายจะพยายามสร้างของทุกๆรายการจนเสร็จจึงไปพักผ่อน มันหมายความว่างานก่อสร้างอาจยืดยาวไปถึงกลางดึกที่อุณหภูมิลดต่ำ(จริงๆโต้รุ่งก็มี) ลองคิดดูว่าพวกนี้ต้องฝ่าหิมะไปสร้างสิ่งก่อสร้างกลางดึกก็ย่อมต้องเจ็บป่วยเป็นธรรมดา

ดังนั้นพฤติกรรมการสั่งสร้างสิ่งก่อสร้างของคุณควรเป็นแบบนี้
  • ช่วงกลางดึกที่คนพักผ่อน ไม่ควรทุ่มสร้างเยอะ เพราะเช้ามาหลายๆคนจะไปสร้างของเรื่อยๆจนกว่าจะหมด หากสร้างเยอะเกินไปพวกนี้จะเข้างานสายมาก(หรือบางทีหายทั้งวัน) ทำให้ผลผลิตวันนั้นของคุณลดฮวบฮาบ
  • ช่วงเลิกงานไม่ควรสร้างสิ่งก่อสร้างไปเรื่อยจนล้น เพราะคนงานจะสร้างมันนานไปจนดึก และมีโอกาสเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น
  • ช่วงกลางวัน ช่วงที่ต้องสร้างของอาจต้องจัดให้มีบางคนที่ว่างงาน เพื่อให้คนพวกนั้นมาช่วยสร้างสิ่งก่อสร้างระหว่างวัน
  • กล่าวโดยสรุป ทางทีดีที่สุดคือคุณควรทยอยสร้างไปเรื่อยๆทุกวัน ค่อยๆเติมไปวันละนิดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรโหมสร้างทีนึงเยอะๆ เพราะมันอาจทำให้คนป่วยมากขึ้นหรือทำให้ผลผลิตโดยรวมของคุณลดลง
  • แต่ทั้งนี้ขึ้นกับคุณเล่นยากแค่ไหนด้วย เช่น ถ้าแค่ easy คงไม่ต้องสนที่ผมว่ามา แต่ระดับ hard นี่คนอ่อนแอหยั่งกะเต้าหู้เลยครับ

ส่วนการเสียชีวิตของประชาชนในเกมเกิดได้ดังนี้
  • เจ็บป่วยและไม่ได้รับการรักษาจนตาย ( Sick -> Gravely ill -> Dead)
  • หิวมากและไม่ได้กินข้าวจนตาย (Hungry -> Starving -> Dead)
  • เกิดอุบัติเหตในที่ทำงาน (มักเกิดกับกะ24ชม.)
  • เหตุการณ์อื่นๆ เช่น โดนฆ่าตาย โดนประหาร ฆ่าตัวตาย ฯลฯ
ระดับความหวังและความไม่พอใจของประชากร
ก็ตามสามัญสำนึกนะครับ ค่าความไม่พึงพอใจ(discontent)ยิ่งน้อยก็ยิ่งดี ส่วนค่าความคาดหวัง(hope)ยิ่งมากก็ยิ่งดี ปัจจัยที่เข้ามากระทบกับค่าพวกนี้มีจำนวนค่อนข้างมากและยิบย่อยพอสมควร ผมเลยคิดว่าจะยกตัวอย่างวิธีการอ่านหลอดพวกนี้เฉยๆ ซึ่งท่านสามารถไปต่อยอดด้วยตัวเองในเกมได้ครับ



ตัวอย่างหลอด discontent ที่ท่านเห็น มีปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง 3 หมวด

- Citizen needs : บ่งบอกว่าประชาชนต้องการบางอย่าง และสิ่งนั้นๆยังไม่ถูกแก้ไข
  • ในส่วนของ overcrowded medical facilities นั้นมีเครื่องหมายขีดนำหน้า หมายความว่าค่า discontent จากปัจจัยนี้เป็นค่าคงตัว หากคุณแก้ไขปัญหาได้ค่าที่เพิ่มมานี้ก็จะหายไป
  • ในส่วนของ bad food / cold home / lack of med นั้นมีลูกศรชี้ขึ้นนำหน้า หมายความว่าค่า discontent จากปัจจัยเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตราบใดที่ปัญหายังคงอยู่ และหากคุณแก้ไขปัญหาได้ค่าที่ว่าก็จะหยุดเพิ่ม
- Permanent modifiers : นี่คือปัจจัยถาวรที่เข้ามากระทบ สีฟ้าคือปัจจัยบวก สีแดงคือปัจจัยลบ ตัวแปรพวกนี้จะคงอยู่ตลอดหากคุณไม่แก้สาเหตุ ถ้าคุณกำจัดมันออกไป อย่างเช่น ไปปิด overtime work 13 แห่ง ค่า discontent ย่อมลดลง
- Temporary modifiers : นี่คือปัจจัยชั่วคราวที่เข้ามากระทบ อาจเกิดจากการตัดสินใจในตัวเลือกบางอย่าง การปลดกฎหมาย การเติมเต็มสัญญาประชาชน รวมถึงการใช้ความสามารถของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ค่า discontent ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเหล่านี้ ปล่อยไว้สักพักจะหายไปเอง



ตัวอย่างหลอด hope ที่ท่านเห็น มีปัจจัยที่มาเกี่ยวข้อง 2 หมวด

- Permanent modifiers : นี่คือปัจจัยถาวรที่เข้ามากระทบ สีฟ้าคือปัจจัยบวก สีแดงคือปัจจัยลบ ตัวแปรพวกนี้จะคงอยู่ตลอดหากคุณไม่แก้สาเหตุเช่นกัน
- Temporary modifiers : นี่คือปัจจัยชั่วคราวที่เข้ามากระทบ อาจเกิดจากการตัดสินใจในตัวเลือกบางอย่าง การปลดกฎหมาย การเติมเต็มสัญญาประชาชน รวมถึงการใช้ความสามารถของสิ่งก่อสร้างต่างๆ ค่า hope ที่เกิดขึ้นจากปัจจัยเหล่านี้ ปล่อยไว้สักพักจะหายไปเองเช่นกัน คุณจะเห็นว่าปัจจัยหลายอย่างมีผลต่อทั้ง 2 ค่า มันจึงขึ้นในหลอดทั้ง 2 หลอดเลย (เช่น การใช้ patrol จะลด discontent เพิ่ม hope)
ตารางเทคโนโลยีและความคิดเห็น ตอน1


เทคโนโลยีด้าน Heating
  • การอัพเกรดเตา ผมมักให้ความสำคัญกับการเพิ่มรัศมีก่อน โดยเริ่มแรกเตาจะมีรัศมีแค่ครอบสิ่งก่อสร้างวงใน เมื่อคุณเริ่มสร้างสิ่งก่อสร้างในวงถัดมาจึงค่อยอัพรัศมี
  • การอัพความแรงของเตาผมอัพก่อนวันที่อุณหภูมิจะลดแรงๆเท่านั้น แบบว่าอัพเฉพาะหน้าสุดๆ เพราะอัพมาก่อนนานๆก็ไม่ได้ใช้หรอก (ใครจะไปเปิดให้เปลืองถ่านหินเล่น?) เอาเวลาไปอัพอะไรที่สามารถใช้ประโยชน์ได้เลยทันทีก่อนดีกว่า
  • การอัพประหยัดถ่านของเตามี 2 ขั้น ขั้นละ10% แรกๆมันเป็นตัวเลือกที่ไร้สาระมาก เพราะคุณควรไปเลือกอัพพวกการผลิตถ่านที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว มากกว่ามาเสียเวลานั่งเซฟถ่านลงแค่ 10-20% (อาจอัพต่อเมื่อเทคโนโลยีผลิตถ่านคุณของเต็มแล้ว)
  • การอัพทาง overdrive ผมมองว่าไม่จำเป็นในตอนแรก มันทำให้เสียเวลาอัพเทคโนโลยีที่จำเป็นอื่นๆ ควรมองมันเป็นตัวเลือกท้ายๆเช่นกัน
  • สายการอัพเกรด Steam hub เป็นสิ่งที่ผมชอบมากยิ่งกว่าเตา เพราะผมสร้างเมืองโดยแบ่งโซนอุตสาหกรรม การอัพเพิ่มความกว้างก็เพิ่มพื้นที่ครอบคลุมพอสมควร ส่วนการอัพลดถ่านมันถือว่าประหยัดถ่านเป็นสัดส่วนที่มากกว่าการอัพลดถ่านเตามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณมี Steam hub หลายๆอัน
  • Heater ผมมักมีไว้อย่างน้อย 1 ขั้นกันเหนียว เพราะเวลาที่อุณหภูมิลดต่ำลงสิ่งก่อสร้างบางอย่างอาจหยุดทำงาน แต่ถ้าเราเปิด heater ก็จะทำงานต่อได้ เท่ากับว่า heater เป็นตัวช่วยในยามที่คุณควบคุมอุณหภูมิสิ่งก่อสร้างผิดเล็กน้อย อีกทั้งยังใช้เปิดในสิ่งก่อสร้างที่อยู่โดดๆห่างไกล ให้มันไม่เย็นจนเกินไปด้วย ผมมักจะอัพขั้นแรกอย่างรวดเร็ว แต่ทิ้งช่วงไปอัพขั้นสองตอนกลางเกม ส่วนการอัพขั้นที่3 หรืออัพประหยัดถ่านดูไม่คุ้มค่าสำหรับผม จะอัพก็ต่อเมื่อว่างจริงๆเท่านั้น

โดยรวมด้าน Heating นี้นอกจาก heater 1-2 ขั้นและ steam hub 2-3 ขั้นแล้ว ผมมองว่าที่เหลือเป็นการอัพตามสถานการณ์ เช่น ขยายวงตอนสร้างสิ่งก่อสร้างรอบๆ เพิ่มระดับพลังงานตอนอากาศแย่ลง ที่เหลือค่อยมาอัพตอนว่างจริงๆ



เทคโนโลยีด้าน Exploration and Industry
  • Scout เป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นมากๆ หาทางเปิด Beacon อย่างรวดเร็ว ตามมาด้วย more scout ส่วน lighter scout sled ก็รีบปลดล็อคเมื่อพร้อม การเพิ่ม scout ตัวที่3 อาจเลือกทำตอนช่วงกลางเกม
  • คุณอาจเปิด factory เพื่อทำ automaton แต่โดยส่วนตัวผมไม่รีบนัก เพราะสาย automaton ต้องมาอัพเกรดเพิ่มเติมอีกเยอะ เหมาะกับกลางค่อนท้ายเกม (ยกเว้นฉาก The Arks)
  • เลือกวิจัย outpost depot ต่อเมื่อเจอ resource ที่ต้องการ
  • หากคุณอยู่ในช่วงกลางค่อนท้ายเกมและพร้อมผลิตหุ่นแล้ว ทางสายการอัพเกรดหุ่น ควรอัพมุ่งไปทางเพิ่มประสิทธิภาพ (Integration) เป็นหลัก
  • เมื่อคุณปลดล็อค tier4 เทคโนโลยีที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ Engineer automatons เมื่อวิจัยเสร็จให้ใส่หุ่นตัวนึงลงไปใน 1 workshop หลังจากนั้นคุณจะทำการวิจัยได้ทั้งวันทั้งคืนตลอดระยะเวลาที่เหลือของเกม
  • สายลดราคาผลิตหุ่นไม่ได้จำเป็นมาก ถ้าอยากอัพจริงๆอัพแค่ขั้นแรกก็พอ แถมต้องอัพก่อนผลิตหุ่นลอตแรกๆด้วย เพราะสายนี้ยิ่งอัพช้ายิ่งไม่คุ้มค่า สาเหตส่วนตัวที่ผมคิดว่าต่อให้อัพไปก็ไม่คุ้มค่าเท่าไหร่ เพราะแต่ละเกมผมมักผลิตหุ่นไม่เกิน 8 ตัว (ยกเว้น The Arks) ถ้าอัพเต็มที่จะประหยัดราคาไม้และเหล็กลงอย่างละ 50 หมายความว่าถ้าผมอัพเต็มแล้วผลิตหุ่น 8 ตัว จะประหยัดได้ 400 ไม้ 400 เหล็ก แต่อย่าลืมว่าเราเสียค่าอัพเกรดเทคโนโลยี เป็นไม้ 160 เหล็ก 105 เท่ากับประหยัดจริงๆแค่ ไม้ 240 เหล็ก 295 แค่นั้น ซึ่งเป็นทรัพยากรที่จิ๊บจ๊อยมากเทียบกับช่วงกลางค่อนท้ายเกม แถมยังเสียโอกาสอัพเทคโนโลยีอื่นๆที่มีประโยชน์อีก 2 อัน ดังนั้นผมจึงมองว่าจะอัพก็ต่อเมื่อว่างเท่านั้น
  • สาย Medical automatons ไว้อัพยามว่างตอนท้ายๆเกม ก่อนพายุโหมกระหน่ำ เพราะหุ่นยนต์ทำงานได้กลางพายุหิมะ
  • สายอัพ Prostheses โคตรอภิมหาไร้สาระ เอาเวลาอันมีค่าของคุณไปทำอย่างอื่นดีกว่า

กล่าวโดยสรุปด้าน Exploration and Industry สิ่งที่สำคัญจริงๆคือ scout เท่านั้น ควรอัพเพิ่มจำนวนและเดินทางเร็วให้ไวที่สุด outpost อัพเมื่อต้องการใช้งาน factory ค่อยมาอัพกลางค่อนปลายเกม ส่วนการอัพเกรด automatons สำคัญจริงๆแค่การเพิ่มประสิทธิภาพ (Integration) และ Engineer automatons ด้าน Medical automatons อาจมาอัพท้ายเกมก่อนพายุมา และคุณก็ลืมที่เหลือไปได้เลย

ตารางเทคโนโลยีและความคิดเห็น ตอน2


เทคโนโลยีด้าน Resources
  • Faster gathering มักเป็นเทคโนโลยีแรกสุดที่คุณควรอัพตอนเริ่มเกม
  • เมื่อคุณเก็บไม้จนจะหมดให้เริ่มทำการอัพ Sawmill และตามด้วย Steelworks ในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน
  • เทคโนโลยีด้านไม้นั้น Sawmill Upgrade ถือว่าคุ้มค่า หลังจากนั้นทำการเปิดโรงไม้อย่างน้อย 2 โรง เพราะ Sawmill ราคาถูกมาก(แค่10ไม้เอง) การมี Sawmill+upgrade 2-3 โรง จะทำให้คุณมีไม้ใช้เพียงพอไปอีกระยะหนึ่ง อีกอย่างไม้มักเป็นทรัพยากรที่ได้จากการสำรวจในปริมาณค่อนข้างมากอยู่แล้วด้วย
  • หากคุณต้องการเสริมทรัพยากรทางด้านไม้จริงๆให้อัพ Wall drill 1 ขั้น และสร้างมันในทุกจุดที่สร้างได้ ผลผลิตจาก Wall drill จะทำให้ดุลด้านไม้ของคุณแข็งแกร่งขึ้นไปอีก แต่การอัพเกรดเพิ่มขั้น Wall drill นั้นไม่จำเป็นเท่าไหร่ เพราะมันใช้ steam core มากขึ้น ขณะที่ได้ไม้ต่อวันเพิ่มกลับมาไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
  • Steam sawmill ไม่จำเป็นนัก (แต่อัพไปก็ไม่ถือว่าพลาด) เพราะหากต้องการไม้เพิ่ม คุณสามารถเพิ่มจำนวน Sawmill ได้เสมอ (ซึ่งจริงๆ 3 Sawmill + 2 Wall drill ก็แทบเหลือใช้บานเบอะแล้ว) Sawmill range extension ก็ไม่จำเป็นนักเช่นกัน เพราะย้ายตำแหน่งเองก็ได้ ลองคิดดูว่าคุณจะต้องมานั่งย้ายไอ้ Sawmill (ราคา10ไม้) สักกี่ครั้งใน1เกมกันเชียว
  • ทางด้านทรัพยากรเหล็ก มันจะมีจำกัดพื้นที่ตั้งพวก Steelworks แค่ 2 จุดในแต่ละด่าน และเนื่องจากการที่ตั้งโรงงานได้จำกัด ช่วงต้นถึงกลางเกมจึงเป็นทรัพยากรที่ผลิตได้น้อยที่สุด ถือเป็นทรัพยากรคอขวด(ทรัพยากรที่มักขาด) ทุกครั้งที่คุณไต่ tier เทคโนโลยีขึ้นไป ควรเร่งปลดล็อคโรงเหล็กระดับสูงขึ้นไปทุกครั้งเพื่อเพิ่มผลผลิตเหล็ก (อีกอย่างคือโรงเหล็กไม่ใช้ steam core)
  • การได้มาซึ่งทรัพยากรถ่านหินมี 3 วิธี คือ coal thumper / coal mining / charcoal kiln
  • Coal mining ทั้งหลายเหมาะกับต้นเกมที่ประชากรยังจำกัด อัตราถ่านต่อคนทำงานค่อนข้างน่าพึงพอใจ ตัวโรงงานเก็บความร้อนได้ดีพอสมควร แต่ข้อเสียคือมันใช้ steam core ในการสร้างและอัพเกรด
  • Coal thumper เหมาะกับการเสริมทรัพยากรถ่านในช่วงกลางเกมถึงท้ายเกม เพราะถึงตอนนั้นคุณจะมีแรงงานประชากรจำนวนมาก ซึ่งวิธีการเก็บถ่านจาก Coal thumper เราจะได้ถ่านจำนวนมากจริงๆ แต่มันต้องสร้าง gathering post ติดๆกันแล้วสั่งให้คนงานประจำ gathering post เก็บถ่านให้ ซึ่งต้องใช้ gathering post 2 อัน ต่อ 1 coal thumper และต้องใช้ gathering post 4 อัน ต่อ 1 steam coal thumper (สรุปคือโดยรวมต่อ 1 complexคุณจะได้ถ่านหินจำนวนมาก แต่ก็ต้องใช้คนงานมากด้วยเช่นกัน) แถมอัพแค่ตัว Thumpers ไม่พอคุณยังต้องเสียเวลามานั่งอัพ gathering post insulation และ effecient gathering อีกด้วยเพื่อให้การเก็บมีประสิทธิภาพเต็มที่และคนงานไม่ป่วยง่าย (เพราะ gathering post เก็บความร้อนได้ไม่ค่อยดี) อย่างไรก็ตามเนื่องจากการสร้าง Thumpers ไม่ใช้ Steam core ทำให้เราสามารถสร้างโรงงานได้เรื่อยๆ ช่วงค่อนท้ายเกมคุณจึงสามารถหางานเก็บถ่านจาก Thumper ให้คนงานทำได้ไม่อั้นเลยทีเดียว
  • Charcoal kiln ถือเป็นวิธีการได้มาซึ่งถ่านหินในระดับรอง ไม่ดีเท่า 2 แบบข้างต้น ถ้าคุณจะสร้างจริงๆก็ถือเป็นผลผลิตถ่านหินเสริม มันควรใช้คู่กับการผลิตถ่านหินหลักวิธีอื่นด้วย หากคุณสร้างมันหลายๆโรงจะทำให้ทรัพยากรไม้ของคุณลดลงฮวบๆอีกด้วย

กล่าวโดยสรุปเทคโนโลยีสาย Resources นี้ เป็นเทคโนโลยีที่อัพเพื่อทำให้ได้ทรัพยากรเพิ่มขึ้นมาอีก เริ่มเกมควรเริ่มด้วย fast gathering และเนื่องจากในทรัพยากรที่ให้เริ่มแรกทั้งหมดนั้น ถ่านหินจะมีจำนวนมากที่สุด คุณจึงควรมาสร้าง Sawmill และ Steelworks ก่อน เมื่อถ่านหินใกล้หมดจึงเลือกวิจัยทาง coal mining หรือ coal thumper สักทาง พอแก้ปัญหาถ่านหินได้แล้ว คุณต้องมาเร่งเสริมผลผลิตทางไม้และเหล็ก เพราะมันเป็นทรัพยากรที่ใช้ในการอัพเกรดสิ่งอื่นๆทั้งหมด เมื่อคุณเสริมตรงนี้จนไม้และเหล็กไหลมาเทมาแล้ว คุณจะสามารถวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูงๆได้อย่างต่อเนื่อง แล้วค่อยหาเวลามาเลือกอัพเทคโนโลยีด้านถ่านหินต่อให้สุดสาย



เทคโนโลยีด้าน Food, Health and Shelter
  • การได้มาซึ่งอาหารมี 2 แบบหลัก คือล่าเอา (Hunter's hut) หรือปลูกเองจากเรือนเพาะชำ (Hot house) ทางที่ดีให้ตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่งแต่ต้นเกม และวิจัยด้านนั้นให้ลึกเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมาก
  • สายเนื้อ (Hunter's hut) นั้นสิ้นเปลืองแรงงานคนจำนวนมาก ขณะที่สายผัก (Hot house) เองก็สิ้นเปลือง Steam core จำนวนนึงด้วยเช่นกัน
  • ผมมองว่าคุณสามารถกำหนดแผนการเล่นเป็น combo โดยใช้ทางเลือกแหล่งที่มาของถ่านหินและอาหารได้ กล่าวคือ (Hot house + Coal Thumper) หรือ (Hunter's hut + Coal mining) หลักการของ combo พวกนี้คือ มีของอย่างหนึ่งที่ใช้ Steam core ในการสร้างแต่ใช้กำลังคนน้อย ดังนั้นคนที่เหลือก็จะถูกโยกไปยังอีกส่วนที่ใช้กำลังคนมากแต่ไม่ต้องการ steam core ในการสร้าง อย่างไรก็ตามนี่เป็น Idea คร่าวๆเท่านั้น จริงๆช่วงค่อนท้ายเกมคุณควรมีการได้มาซึ่งถ่านหินและอาหารจากทั้ง 2 แหล่งอยู่ดี ขึ้นกับว่าจะเลือกเน้นไปที่แบบไหนมากกว่ากัน
  • ตอนเริ่มเกม คุณจะอัพ Hunter's gear หรือไม่ก็ไม่ผิด เพราะช่วงแรกคุณอาจหาอาหารด้วย Hunter hut 1-2 อันไปก่อน พอคนเริ่มจะเยอะขึ้น ค่อยมาเลือกการผลิตอาหารเน้นไปที่สายใดสายหนึ่งทีหลัง
  • แต่หากคุณต้องการเล่นสายผัก (Hot house) อาจข้าม Hunter's gear ไปได้เลย และมุ่งเอา Hot house มาเป็นแหล่งอาหารหลัก อย่างไรก็ตามสายนี้คุณสามารถสร้าง Hunter's hut เสริมได้เป็นระยะ (เพราะมันเป็นสิ่งก่อสร้างที่สร้างได้แต่ต้น)
  • ด้าน Health คุณจะเริ่มอัพก็ต่อเมื่อคนป่วยเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนคุณรู้สึกว่าอาจรักษาไม่ทัน
  • จุดสำคัญคือ พยายามสังเกตว่าคนป่วยจากอะไรแล้วไปแก้ที่ต้นเหตุด้วยเสมอ เช่น ป่วยจากที่ทำงานเย็นเกินไปก็พิจารณาอัพเกรดเตาหรือ Heater ไม่ใช่รอแก้แต่ที่ปลายเหตุอย่างเดียว
  • หากพบว่าสาเหตุที่ทำให้คนป่วยคือการนอนในเต๊นท์ห่วยๆแล้วล่ะก็ คุณต้องอัพบ้านระดับสูงขึ้นและสร้างมันเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ (ระหว่างนี้อาจประคองจำนวนผู้ป่วยโดยการสร้างสถานพยาบาลเพิ่มเติมไปก่อน)
  • สาย Health หากคนไม่ป่วยมากก็ไม่จำเป็นต้องอัพเกรดให้ลึก ยกเว้นเตรียมรับเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น เตรียมรับกลุ่มผู้อพยพที่มีคนป่วยอยู่ด้วยจำนวนมาก หรือเตรียมรับมือพายุหิมะสุดท้ายในด่าน New home
  • การอัพเกรด Shelter ควรหาจังหวะทำต่อเนื่องตลอดทั้งเกม ยิ่งผ่านไปหลายๆวันอากาศเริ่มเย็นลง คุณยิ่งควรอัพลงไปให้ได้ House เป็นอย่างน้อย (House ในเกมนี้ดีสมเป็นสิ่งก่อสร้างสุดสายมาก)
  • หากอัพ House เสร็จและมีเวลาเหลือ อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือ House redesign ที่ลดไม้และเหล็กที่ใช้ในการสร้างบ้านลง ยิ่งอัพเร็วย่อมประหยัดได้มาก ตัวมันเสียเวลาอัพแค่ครั้งเดียว และคืนทุนหลังจากสร้างบ้านหลังที่ 5 (ซึ่งอย่าลืมว่าคุณอาจต้องสร้างบ้านรวม 50-60 หลังตลอดทั้งเกมเลยทีเดียว) มันต่างกับเทคโนโลยีลดราคา automaton เพราะงานสร้างบ้านมันเป็นสิ่งจำเป็น และมักทำแข่งกับเวลาก่อนที่สภาพอากาศจะย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ขณะที่การผลิต automaton มันถือเป็นทางเลือก และไม่จำเป็นต้องรีบร้อนอะไร (ยกเว้น The Arks)
  • เทคโนโลยีฉนวนสิ่งก่อสร้าง (Insulation) ทั้งหมด ว่างๆค่อยมาอัพ เพราะคุณมี Heater ช่วยอยู่แล้ว

กล่าวสรุปเทคโนโลยีสาย Food, Health and Shelter เทคโนโลยีด้านนี้ส่วนใหญ่ไม่รีบในช่วงแรกๆ เมื่ออาหารลดจำนวนลงเรื่อยๆจึงค่อยมาจัดการเป็นระยะๆ ตรงนี้คุณควรเริ่มจากการเลือกว่าจะเน้นหาอาหารด้วยรูปแบบใด (Hunter's hut หรือ Hot house) พอเลือกได้แล้วว่างๆก็มามุ่งอัพเกรดมันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้าน Health นั้นมักไม่รีบ มันเป็นการเลือกวิจัยตามสถานการณ์ โดยคุณจะเริ่มวิจัยก็ต่อเมื่อมีการเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆของผู้ป่วย ตรงนี้ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าอย่าลืมไปหาสาเหตุและแก้ไขมันด้วย ด้านเทคโนโลยี Shelter นั้นควรเร่งให้ได้บ้าน(House)อย่างรวดเร็วก่อนถึงกลางเกม การได้ที่พักที่ดีจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ๆลงด้วยอีกทางหนึ่ง สุดท้ายเราค่อยมาเลือกอัพพวก Insulation ท้ายเกม
กฏหมายพื้นฐาน Adaptation


การปลดล็อคกฏหมายใหม่ๆ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการช่วยควบคุมประชาชน เป็นตัวบ่งบอกว่าสภาพสังคมที่คุณสร้างออกมาจะเป็นอย่างไร มันช่วยปลดล็อคสิ่งก่อสร้างใหม่ๆ ความสามารถใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่ม hope และลด discontent ได้ แม้ว่าในระยะสั้นการปลดล็อคกฎหมายบางอย่างจะทำให้ประชาชนไม่พอใจ แต่จะมีคุณประโยชน์มหาศาลในระยะยาว กฎหมายต่างจากเทคโนโลยีตรงที่ถ้าคุณเลือกมันไปแล้วจะใช้งานได้เลย โดยไม่สามารถยกเลิกกฎหมายที่ปลดไปแล้วได้ ต้องรอให้ครบเวลาที่กำหนดจึงจะมาปลดเพิ่มได้ใหม่ ดังนั้นคุณต้องคิดให้ดีก่อนการเลือกแต่ละครั้ง เพราะอะไรปลดก่อนก็ย่อมได้ใช้ก่อน

กฏหมายเกี่ยวกับการปรับตัว (Adaptation)
  • เกี่ยวกับกะการทำงาน : นี่เป็นกฎหมายที่จำเป็นต้องปลดล็อคเป็นอันแรกๆ จำเป็นต้องใช้ในทุกๆฉาก เพราะมันทำให้เรามีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการบริหารทรัพยากร กะ Extended shieft (6.00-20.00) มักใช้เพิ่มเวลาทำงานของโรงงานผลิตทรัพยากรที่กำลังขาด (หรืออย่างน้อยก็ใส่กับทุก workshop) ส่วนกะฉุกเฉิน (Emergency shift) จะทำให้สิ่งก่อสร้างนั้นๆทำงาน 24 ชม. มักใส่กับ workshop เพื่อช่วยเร่งการวิจัยในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตามหากใช้แล้ว คุณต้องระวังประชากรเจ็บป่วยเพิ่มเติมจากการทำงานท่ามกลางอากาศหนาวๆตอนกลางคืนด้วย
  • เกี่ยวกับการจัดการเด็ก : คุณเลือกได้ว่าจะเอาเด็กมาใช้แรงงานหรือไม่ ซึ่งมันก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป หากคุณใช้แรงงานเด็ก (Child labor) คุณจะมีแรงงานเพิ่มมาจำนวนมาก ซึ่งทำให้ได้ทรัพยากรกลับมามากขึ้น หากคุณไม่ใช้แรงงานเด็กจะต้องสร้างสถานเลี้ยงเด็ก (Child Shelter) หลังจากนั้นคุณสามารถเลือกกฎหมายให้เด็กๆไปช่วยหน่วยงานการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา หรือให้ไปช่วยเหลือในการวิจัยก็ได้ อย่างไรก็ตามส่วนมากผมจะเลือกใช้แรงงานเด็กในงานที่ปลอดภัย เพราะทำให้เราได้เปรียบตลอดเกมมากจริงๆ การเอาเด็กมาช่วยงานวิจัยหรือรักษาพยาบาลมันไม่จำเป็นเท่าไหร่ เพราะเราสามารถสร้าง workshop หรือ Medical post เพิ่มเติมได้เรื่อยๆอยู่แล้ว
  • เกี่ยวกับการจัดการศพ : เลือกได้ว่าจะให้ฝังตามสุสาน (Cemetary) หรือให้โยนศพทิ้งกองรวมๆกันเผื่อไว้ใช้ในอนาคต (Corpse disposal) หากท่านเลือกฝังในสุสาน ก็สามารถเลือกอัพพิธีฝังศพต่อได้ ทำให้ค่า hope ลดไม่มากเมื่อมีคนตาย แต่หากเลือกเก็บศพไว้ใช้ประโยชน์จะปลดล็อค Snow pit และศพจะถูกนับเป็นทรัพยากรหนึ่ง โดยสามารถปลดล็อคการใช้ชิ้นส่วนศพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลและการเอาศพไปเป็นปุ๋ยปลูกพืชได้ (หากอัพเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลแล้ว มันจะเพิ่มให้ตลอดเวลา แม้ว่าไม่มีศพเหลือแล้วก็ตาม)
  • เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล : กฎหมายด้านนี้มีที่ต้องชั่งใจอยู่ 2 ประเด็น อย่างแรกคือ จะมีการจัดการกับผู้ป่วยหนัก (gravely ill) อย่างไร เลือกได้ระหว่าง Radical treatment กับ Sustain life (แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ที่หมวด"การเจ็บป่วยและความตาย"ในบทสรุปนี้ครับ) ตัวผมเองถ้าเล่นแบบ hard เราจะต้องมีเทคโนโลยีรักษาพยาบาลและโรงพยาบาลเผื่อไว้ จึงออกมาแนว Sustain life อะไรแบบนี้ (อย่างไรก็ตามตรงนี้ไม่ตายตัว) อีกหัวข้อที่ต้องเลือกคือ เราจะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาได้อย่างไร เลือกได้ระหว่าง Double rations for the ill หรือ Overcrowding ตรงนี้ขึ้นกับว่าท่านอยากรักษาได้เร็วหรือรักษาได้ทีละมากๆ โดยส่วนตัวถ้าเล่นแบบยากผมจะเลือก Overcrowding เพราะทำให้ขีดความสามารถการรักษาเพิ่มเป็น 2 เท่า (+100%) ขณะที่ Double rations จะทำให้รักษานั้นเร็วขึ้นแค่ 50% (แถมที่น่ารำคาญคือต้องคอยมานั่งกดใช้ มี cool down หลังกด และการเรียกใช้ความสามารถต้องจ่าย rations ด้วย) ส่วน Care House กับ Prothetic เป็นการปลดตามสถานการณ์ หากมีคนพิการก็ปลด Care house อาจรอปลด Prothetic เพิ่มเมื่อมีคนพิการจำนวนมาก กรณีเลือก Sustain life มีคนนอนติดเตียงก็ปลด Care House อย่างเดียวไปก่อน (แต่มีโอกาสเกิดคนพิการจากหุ่น automaton ตามเหตุการณ์สุ่มนะครับ) และในกรณีที่ท่านวิจัยได้ Infirmary เร็ว ค่อยมาปลดกฎหมาย 2 อย่างนี้เมื่อว่าง ส่วนเรื่อง Triage อาจไม่ปลดเลยก็ได้ ปกติจะเลือกปลดในกรณีเดียวเท่านั้นคือ คนป่วยเยอะมากขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็วจนรักษาไม่ทัน แต่ในความเป็นจริงเราก็ยังสามารถ spam สถานพยาบาลสู้ได้โดยไม่จำเป็นต้องปลด Triage เลยครับ
  • เกี่ยวกับอาหาร : โดยทั่วไปจะทำให้ได้อาหารมากขึ้นจากการปรุง เราเลือกได้ว่าจะเพิ่มสูตรอาหารแบบเป็นซุป (Soup) หรือเอาขี้เลื่อยใส่ลงไปเพื่อเพิ่มเนื้ออาหาร (Food additives) ซึ่งแลกกับโอกาสที่จะมีคนป่วยจากกินขี้เลื่อยที่เจือปน (ชีวิตจริง ถ้าเรากินของแปลกปลอมที่ย่อยไม่ได้ จะเสี่ยงต่อภาวะลำไส้อุดตันครับ) ส่วนการใช้สูตรอาหารซุป จะทำให้ประชาชนไม่พอใจเล็กน้อยจากคุณภาพอาหารที่แย่ได้ โดยทั่วไปกฎหมายด้านนี้มักเลือกอัพก่อนการปรุงอาหารครั้งแรก (เพิ่มเติมคือ หากมีคนตายจากอดอาหารมากเกินไป จะมีกฎหมายอีกตัวเพิ่มขึ้นมาคือ Alternative food source ซึ่งจะอนุญาตให้มีการเอาศพมาปรุงอาหารเพื่อความอยู่รอดครับ)
  • เกี่ยวกับความบันเทิง : อาจเลือกปลดเมื่อว่างหรือเมื่อค่า discontent งอกมาแถวครึ่งหลอด อันแรกสุด Fighting arena นั้นเป็นสิ่งก่อสร้างที่ดีมากๆ แน่นอนว่าควรสร้างให้ครอบคลุมบ้านเยอะๆ ส่วน Public house นั้นต้องหาจังหวะปลด House of Pleasure เพื่อให้แสดงศักยภาพเต็มที่ กฎ Moonshine นั้นมีแต่ข้อดีสมควรปลดอย่างยิ่ง และสุดท้าย Dueling law นั้นก็ค่อยๆลด discontent ได้อย่างมีประสิทธิภาพพอสมควรครับ (แต่การต่อสู้อาจทำให้คนบาดเจ็บถึงตายได้) หากท่านเล่นระดับ hard สายนี้ถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
กฏหมายสายระเบียบวินัยและศาสนา Order VS Faith


กฏหมายสายระเบียบวินัย (Order)
  • ภาพลักษณ์รวมๆคือ เน้นใช้กำลังตำรวจเข้าดูแลความสงบเรียบร้อย ทำลายผู้ต่อต้านด้วยวิธีการต่างๆ สุดท้ายสามารถยึดอำนาจบริหารคล้ายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จได้
  • สายนี้จะเริ่มจาก Neighbourhood watch และ Guard stations ทำให้ได้ตำรวจมาดูแลความเรียบร้อย
  • เลือกเส้นทางที่จะไปต่อจากนี้ ว่าจะปลดอะไรก่อนดี ซึ่งถ้าต้องการอะไรก็เน้นปลดล็อคไปทางนั้น โดยหากท่านอยากเพิ่ม hope ควรไปปลดศุนย์โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda Centre) และการชุมนุมตอนเช้า (Morning Gathering) (ทำไมรู้สึกคล้ายยืนเคารพเสาธงตอนเช้า ฟังผู้มีอำนาจพล่าม)
  • หากท่านอยากลด discontent ควรเลือกปลด Patrol โดยเลือกใช้ความสามารถนี้ได้ที่ Guard Stations (จริงๆมันจะเพิ่ม hope ด้วย) โดยผมมองว่ามันเป็นความสามารถที่ทรงพลังที่สุดของสาย order นี้แล้ว
  • หากท่านอยากเน้นไปที่การเพิ่มกำลังการผลิต ควรเลือกปลด Agitator และ Foreman (โดยส่วนตัวจะชอบ Agitator มากกว่า แต่ถือว่าดีทั้งสองอย่าง)
  • ตัวคุก (Prison) ผมมองว่าประโยชน์ไม่มาก หลักๆคือจะสร้างเนื่องจากมีเหตุการณ์ตามเนื้อเรื่องบางอย่าง นอกจากนี้ยังมีความสามารถส่งตำรวจไปไล่จับคนที่มีแนวโน้มเป็นอาชญากรมาขัง โดยใช้ลดพวก Londoners ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (แต่ก็แค่นั้นแหละ มีประโยชน์แค่กับพวก Londoners ใน New home) ยิ่งกว่านั้นความสามารถ Forceful persuasion ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไหร่ แต่การปลดล็อคคุกมันเป็นตัวเลือกที่ต้องผ่านหากท่านต้องการไปจนถึงสุดสายเพื่อปลด New Order
  • Pledge of Loyalty มีประโยชน์ปานกลาง ปลดเมื่อว่าง หรือใช้เป็นทางผ่าน
  • ตรงสุดสาย หากท่านปลด New Order จะเป็นการใช้กำลังตำรวจเข้ายึดอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยค่า Hope จะหายไปเลย (กลายเป็น Obedience = การเชื่อฟัง) ตอนยึดอำนาจอาจทำให้มีคนตายจำนวนนึง มีการสร้างแท่นประหาร (Execution platform) สามารถกดสั่งประหารคนได้ ทำให้ค่า discontent ลดลงมาก ผมบอกได้ว่าตัว New Order นี้ถือเป็นทางเลือก จะปลดหรือไม่ก็ได้ในทุกระดับความยาก (แต่ท่านอาจเลือกปลดในระดับความยาก hard ทำให้ควบคุมประชากรได้ง่ายขึ้น)



กฏหมายสายความศรัทธา (Faith)
  • ภาพลักษณ์รวมๆคือ เน้นใช้ศาสนามามีส่วนร่วมในการจัดระเบียบสังคม ผู้ต่อต้านจะกลายเป็นคนบาป สุดท้ายสามารถก่อตั้งศาสนานิกายใหม่และใช้ความเชื่อเข้าครอบงำประชาชน
  • นอกจากโบสถ์ (House of prayer) แล้ว ควรปลด Shrines และสร้างมันกระจายๆให้ครอบคลุมทั่วเมือง
  • Field Kitchens นั้นทำให้สิ่งก่อสร้างรอบๆอุ่นขึ้นด้วย แต่เนื่องจากวงการแพร่กระจายความร้อนไม่กว้างมาก
    โดยส่วนตัวจึงมองว่าประโยชน์น้อย
  • House of Healing เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในความยากระดับ hard ที่คนเจ็บป่วยเป็นว่าเล่น เพราะมันมีประสิทธิภาพน้อยกว่า Infirmary แค่เพียงเล็กน้อย แต่สามารถรักษาคนป่วยหนัก (gravely ill) ได้เช่นกัน และเนื่องจากไม่ใช้ Steam core เราจึงสามารถสร้าง spam เน้นจำนวนได้เต็มที่ ไม่จำเป็นต้องใช้แต่ engineers เข้ามาทำงาน อีกทั้งยังเพิ่ม hope ทีละน้อยตลอดการบริการด้วย ข้อเสียของมันคือบางครั้งจะทำให้มีเหตุการณ์ผู้ป่วยยินยอมที่จะตาย (ปฏิเสธการรักษา? การุณยฆาต?)
  • The Temple เป็นอีกสิ่งก่อนสร้างที่มีประโยชน์พอสมควร และสามารถเลือกใช้ความสามารถได้หากหลาย
  • Evening prayers / Pubic penance / Protector of the truth ไม่ใช่แค่เป็นทางผ่านไปยังสุดสาย แต่ตัวพวกมันเองยังเป็นความสามารถที่มีประโยชน์ด้วย
  • Faith Keepers นั้นทำหน้าที่รักษาความสงบในเหตุกาณ์ต่างๆ ในด้านการใช้งานนั้นคล้ายตำรวจในสาย order เลย
  • Righteous Denunciation มีประโยชน์ปานกลาง แต่เนื่องจากไม่ใช่ทางผ่านไปยังสุดสาย จึงค่อยหาเวลาว่างมาเลือกปลดทีหลังก็ได้ครับ
  • ตรงสุดสาย หากท่านปลด New Faith จะเป็นการใช้กำลังสถาปนารัฐศาสนา โดยท่านเองก็เป็นเสมือนกระบอกเสียงของพระผู้เป็นเจ้า คนที่ไม่เห็นด้วยจะถูกจัดเป็นพวกคนบาปหรือพวกนอกศาสนา หลังจากนั้นค่า Hope จะหายไปเลย (กลายเป็น devotion = การอุทิศตน) ตอนยึดอำนาจอาจทำให้มีคนตายจำนวนนึง มีการสร้างแท่นประหาร (Execution platform) สามารถกดสั่งประหารคนได้ ทำให้ค่า discontent ลดลงมาก ผมบอกได้ว่าตัว New Faith นี้ถือเป็นทางเลือกเช่นกัน อาจเลือกปลดหรือไม่ก็ได้เช่นเดียวกันกับสุดทางสาย order (แต่ท่านอาจเลือกปลดในระดับความยาก hard ทำให้ควบคุมประชากรได้ง่ายขึ้น)

เปรียบเทียบสาย Order และ Faith
- ภาพกว้างๆเหมือนการปกครองโดยการใช้กำลัง กับการปกครองแบบล้างสมอง
- มีตำรวจเหมือนกัน (guard / faith keeper) เลือกใช้ในเหตุการณ์ต่างๆได้เหมือนกัน แต่ฝั่ง order จะได้ guard มาใช้งานเร็วกว่า
- มีความสามารถในการควบคุม discontent / hope ตล้ายกัน แต่ความสามารถโดยรวมสาย Faith จะมีความหลากหลายและควบคุมได้ดีกว่า (ขณะที่ฝั่ง order มีแค่ patrol ที่ใช้ควบคุมค่าพวกนี้ได้ดี)
- โบนัสของสาย Faith ดีตรงมี House of Healing ใช้เพิ่มขีดความสามารถในการรักษา ส่วน Field Kitchens ค่อนข้างประโยชน์น้อย
- โบนัสของสาย Order คือการเร่งกระบวนการผลิตโดยมี Agitator กับตวามสามารถ Foreman ส่วน Prison นั้นประโยชน์ค่อนข้างน้อย(มาก)
- สาย Faith จะเปลืองพวก Rations เพิ่มเติม จากการใช้ความสามารถและสิ่งก่อสร้างบางอย่าง ส่วนสาย Order จะใช้ทรัพยากรหลายๆอย่างกระจายกันไป
- ปลายสาย New Order กับ New Faith นั้น แทบจะเหมือนกันทุกประการ แต่การจะไล่ปลดตรงไปยังปลายสายนั้น สาย Faith ดูจะมีภาษีดีกว่า เพราะความสามารถที่ปลดล็อคระหว่างทางใช้งานได้มีประโยชน์กว่า นอกจากนี้สาย Faith ยังไปสุดสายได้เร็วกว่า (ปลดกฎหมาย 6 ตัว ส่วน order ต้องปลด 7)

สรุปข้อดีรวมๆ
Order : ได้ตำรวจเร็ว / โบนัสเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
Faith : ความสามารถมีประโยชน์เกือบทั้งสิ้น คุม discontent กับ hope ได้ดีกว่า / โบนัสสิ่งก่อสร้างรักษาพยาบาล
สรุปเหตุการณ์ Main story - New home


เนื้อเรื่องเริ่มต้น : คุณต้องคอยดูแลประชากรกลุ่มหนึ่งที่อพยพขึ้นเหนือมาจาก London เพื่อหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับสร้างเมืองใหม่

  • คุณจะเริ่มจากกลุ่มคน 80 คน (เป็นเด็ก 15 ตน) และทรัพยากรที่ให้มาหยิบมือหนึ่ง รีบเก็บทรัพยากรและสร้างที่พักให้ทุกคน เริ่มแรกเกมจะบอกให้คุณจุดเตาพลังงาน
  • เกมจะแนะนำให้คุณสร้าง Beacon และค้นหาผู้รอดชีวิตที่ติดค้างอยู่กลางทาง รีบสร้าง scout ออกไปค้นหาทันที
  • พยายามส่ง scout สำรวจไปไกลเรื่อยๆ จนคุณเจอ automaton ตัวนึงที่สะพาน เลือกส่งมันกลับเมืองหรือแยกชิ้นส่วนเอาทรัพยากร (ผมมักเลือกแยกชิ้นส่วน เพราะได้ 2 steam core)
  • เกมจะให้คุณค้นหาเมืองของผู้รอดชีวิตอื่น ตรงนี้ก็พัฒนาเมืองกับส่ง scout ออกไปเปิดแผนที่เรื่อยๆ
  • เมื่อคุณเจอ Winterhome จะพบว่าเมืองนั้นล่มสลายไปแล้ว หลังจากพบว่าพวกเราอยู่โดดเดี่ยวประชากรในเมืองจะสิ้นหวังกับอนาคตและเกิดความวุ่นวาย คุณมีตัวเลือกกฎหมายเพิ่มมาเพื่อคุมความสงบเรียบร้อย (Order / Faith) (หากคุณไม่ส่งคนไปสำรวจ ประมาณวันที่15 ก็จะมีผู้รอดชีวิตจาก Winterhome มาแจ้งข่าวเมืองล่มสลายอยู่ดี)
  • หลังจากเจอ Winterhome จะมีการเปิดพื้นที่ใหม่ๆให้ scout ไปสำรวจเพิ่มเติมได้ ให้ทำควบคู่ไปกับการสร้างเมืองให้สงบเรียบร้อย ปลดล็อคสิ่งก่อสร้างและความสามารถที่ช่วยควบคุม hope / discontent ก่อน
  • พวกคนที่รู้สึกสิ้นหวังกับชีวิตที่เมืองของเราและอยากกลับลอนดอน พวกนี้จะถูกเรียกว่า Londoners ซึ่งพวกเขามีกำหนดเวลาที่จะเดินทางออกจากเมืองเราชัดเจน โดยระหว่างนี้อาจหากประชาชนไม่พอใจคุณ จะทำให้มีคนเข้าร่วมพวก Londoners มากขึ้น แต่หากคุณเอาใจใส่ประชาชนดี (Discontent น้อย hope เยอะ) คนจะผละหนีจากพวก Londoners เรื่อยๆ
  • ระหว่างนั้นพวก Londoners จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในเมืองมากพอสมควร เช่น พ่นสีกำแพง ขโมยของ หากค่า discontent มีประมาณ 50% คนพวกนี้จะปราศรัยดึงคนเข้าร่วมกลุ่มพวกเขาด้วย ดังนั้นคุณอาจต้องมี guard หรือ faith keeper เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในเมือง
  • เมื่อถึงเวลาที่กำหนด พวก Londoners จะเดินทางออกจากเมือง คุณสามารถเข้าแทรกแซงได้หรืออาจปล่อยไป (และแถมเสบียงสำหรับการเดินทางให้พวกเขาด้วย)
  • หากคุณดูแลประชาชนดีมาก จนพวก Londoners สลายไปเอง จะได้ achievement ด้วย นอกจากนี้การปลดล็อคกฎหมายสุดสายคือ New order / New Faith จะทำให้มีคนตาย แต่พวก Londoners ก็สลายไปด้วย
  • เมื่อจัดการกับพวก Londonders แล้ว หลังจากนั้นไม่นานจะมีกลุ่มผู้อพยพเดินทางมุ่งหน้ามาเมืองของเรา กลุ่มผู้อพยพมี 3 ชุด โดยมาเว้นเวลาห่างกัน 1-2 วัน แต่ละกลุ่มจะมีคนเจ็บป่วยจำนวนหนึ่ง (กลุ่มหลังๆจะมีผู้ป่วยหนักปนอยู่มาก) คุณเลือกได้ว่าจะรับผู้อพยพไหม เป็นบางส่วนหรือทั้งหมด
  • สักพักคุณจะทราบว่าพายุกำลังมา และผู้อพยพพวกนี้ก็หนีพายุมา คุณต้องวิจัย Stereoscopic Lenses เพื่อทราบความรุนแรงของพายุ
  • เกมจะเข้าสู่ช่วงสุดท้ายที่คุณต้องเตรียมตัวรับมือพายุขนาดใหญ่ ต้องมีถ่านเพียงพอ มี rations เพียงพอ มีการวิจัยเตาพลังงานขั้นสูง และเรียกพวกทีม outpost กับ scout กลับเมืองให้หมด (กด outpost เลือก dismantle กดสั่งให้พวกนี้กลับเมือง เมื่อถึงเมืองเลือกที่ beacon / outpost และสั่ง disband ให้หมด แต่อย่างไรก็ตามคุณอาจปล่อยให้พวกนี้ตายอยู่ข้างนอกก็ได้ ในแผนที่คุณจะเห็นพายุค่อยๆคืบคลานเข้ามา ซึ่งถ้าโดน scout หรือ outpost พวกนั้นจะตายทันที)
  • การเตรียมตัวสำหรับพายุเพิ่มเติม(ที่เกมไม่ได้บอกไว้)คือ สร้างสถานพยาบาลเพิ่ม จะให้ดีต้องมีเตียงรวมๆมากกว่าร้อยเตียงก่อนพายุจะมา สำหรับการเก็บถ่านหิน ยิ่งเก็บได้มากเกินเป้ายิ่งดี เพราะระหว่างพายุซัดถล่มจะทำให้เหมืองถ่านเราเป็นน้ำแข็ง และผลผลิตถ่านลดลงระดับนึง (คุณอาจต้องรื้อบางอย่างที่ไม่จำเป็น เช่น หุ่นที่มีมากเกินไป เพื่อเอา Steam core มาสร้างโรงพยาบาล)
  • เมื่อพายุหิมะเข้าพัดถล่มเมือง อุณหภูมิจะลดลงอย่างต่อเนื่องและคงอยู่อย่างนั้นอีก 2-3 วัน แต่ละวันให้เปิด overdrive ตอนกลางคืน ปิดตอนกลางวัน ปิดสถานที่ทำงานที่ไม่จำเป็นและปลดคนออกเพื่อป้องกันคนป่วยเพิ่มเติม (เช่นพวกสิ่งก่อสร้างหาอาหารทั้งหมดจะใช้งานไม่ได้ตอนมีพายุ) สิ่งก่อสร้างที่จำเป็นสุดๆและต้องเปิดทำการช่วงนั้นคือพวกสถานพยาบาล (กดใช้ความารถให้รักษาเร็วขึ้นถ้ามี) ระหว่างพายุพัดโหมกระหน่ำให้เน้นปลดคนงานอยู่บ้านและอย่าสร้างอะไรเพิ่มเติม (เพราะคนงานจะป่วย)
  • คืนสุดท้ายอุณหภูมิจะลดลงจนถึง -150 ทนอยู่รอดไปให้ได้ถึงเช้า เพื่อจบเกม

เกร็ดเพิ่มเติม
- การสำรวจนั้นห้ามพลาด Tesla city เด็ดขาด (ต้องพบ Winterhome ก่อน) เมื่อสำรวจสถานที่นี้แล้ว คุณสามารถมาตั้ง outpost เพื่อเก็บ Steam core ที่นี่ได้เรื่อยๆ โอกาสที่ทีมสำรวจจะตายคือประมาณ 50% แต่ต่อให้ตายก็ถือว่าสำรวจสำเร็จ คุณสามารถส่งทีม outpost มารับช่วงต่อได้เลย (จากการทดสอบกดสำรวจ 100 ที พบว่าตายถึง 48 ครั้งเลย) เพิ่มเติมคือ การส่งทีม 2 ทีมมายืนซ้อนกันที่ Tesla city แล้วกดสำรวจ หากถึงคราวตายมันจะเลือกตายทีมใดทีมหนึ่งในนั้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นทีมที่กดสำรวจอีกต่างหาก ผมแนะนำว่าหากกลัวทีมสำรวจตาย ให้กดเซฟก่อนสำรวจที่นี่ อย่างไรก็ตามหากตายจริงคุณก็เสียแค่ทีมสำรวจ 1 ทีม (เอาของกลับไปเทที่เมืองก่อนครับ) ประกอบด้วยประชากร 5 คน ซึ่งมันเทียบไม่ได้เลยกับความคุ้มค่าของทรัพยากรที่ให้ ดังนั้นสรุปคือห้ามพลาดครับ
- อีกตำแหน่งหนึ่งที่อาจทำให้ Scout ตายคือ Gloomy cave ให้ประชากรราว 35 คน อันนี้ก็ถือว่าคุ้มค่าระดับนึง (คน 5 คนยอมเสี่ยง เพื่อให้ได้คน 30 กว่าคน) เซฟก่อนกดสำรวจก็ได้ครับ (ยังไม่ได้ลองว่าโอกาสตายกี่ %)
สรุปเหตุการณ์ The ark


เนื้อเรื่องเริ่มต้น : คุณต้องคอยดูแลกลุ่มผู้ทรงความรู้จากมหาวิทยาลัย Oxford และ Cambridge โดยคนเหล่านี้มีพันธกิจในการอนุรักษ์เมล็ดพืชหลากสายพันธุ์ให้รอดพ้นจากความหนาวอันโหดร้าย เพื่อใช้ขยายพันธุ์ใหม่หลังจากฤดูหนาวผ่านพ้นไป พวกเขาจะทำสำเร็จหรือไม่

  • คุณจะเริ่มจากนักวิทยาศาสตร์กลุ่มเล็กๆ (Engineers 46 คน ไม่มีเด็ก) และ automaton 1 ตัว ให้เก็บรวบรวมทรัพยากรและสร้างบ้านให้ทุกคน
  • เกมจะบอกให้คุณสร้าง Beacon ก็ทำตามนั้น และเร่งส่ง scout ออกสำรวจ
  • คุณจะพบว่าด่านนี้ไม่มีผู้รอดชีวิตกลุ่มอื่นๆช่วยเพิ่มกำลังคนให้เมืองเลย เมื่อสำรวจต่อไปจะเจอ automatonอีกตัว (เราเลือกได้แค่ว่าส่งกลับเมือง) และในที่สุดจะเจอแบบแปลนสำหรับสร้าง Factory หากได้ปุ๊บให้ scout กลุ่มนั้นกลับเมืองทันที
  • เริ่มสร้าง Factory และเริ่มทำการผลิตหุ่น automaton ทันที พึงระลึกไว้ว่าหุ่นแต่ละตัวที่ออกมาจะทำให้คุณเล่นง่ายขึ้นเรื่อยๆ และสุดท้ายจะง่ายมากเพราะคุณมีหุ่นเต็มเมือง (ของผม 18-19 ตัวมั้ง)
  • เกมจะขึ้น objective ให้เรานำหุ่น automaton ไปทำงานต่างๆที่กำหนด (ผลิตถ่าน2 ผลิตไม้1 ผลิตเหล็ก1 ผลิตอาหาร1) คุณต้องมีหุ่นอย่างน้อย 5 ตัว (แต่ได้เริ่มต้น1ตัว ได้ฟรีจากสำรวจอีกตัว)
  • เมื่อสั่งให้หุ่นไปทำงานตามที่กำหนด ประมาณ 1-2 วันหลังจากนั้น จะมีคนโซซัดโซเซมายังเมืองของเรา บอกว่าเขามาจากเมือง New Manchester มาเพื่อขอความช่วยเหลือ ให้เรารีบส่ง scout ไปเปิดแผนที่หาเมืองที่ว่าทันที (ไปเรื่อยๆก็เจอเองครับ)
  • เมื่่อไปถึงเมือง New Manchester คุณจะเลือกได้ว่าจะให้ความช่วยเหลือหรือไม่ ประชาชนเมืองเราบางส่วนจะไม่พอใจถ้าช่วย (discontent เพิ่ม) แต่บางคนก็จะรู้สึกสิ้นหวังถ้าเราไม่ช่วย (hope ลด) อยู่ดี ในกรณีที่ไม่ช่วยเมืองนี้ก็จะล่มสลายเมื่อพายุหิมะลูกต่อไปมาถึง
  • การช่วยเมือง New Manchester จะต้องส่งของไปบรรเทาทุกข์ 3 ระลอก รอบแรก 600ไม้600เหล็ก+หุ่น1ตัว รอบสอง 2000rations+หุ่น2ตัว รอบสุดท้าย 8000coal+หุ่น4ตัว การจะช่วยเมืองนี้ให้ได้คุณต้องส่งของไปให้ครบทั้ง 3 ระลอก โดยหากเรามีทรัพยากรและหุ่นว่างงานตามที่กำหนด จะสามารถกดสร้างทีมส่งของที่ Beacon ได้ครับ
  • ทั้งนี้เมืองของคุณเองก็ต้องเตรียมการรับมือสำหรับพายุเช่นกัน (บ้าน5หลัง 8000coal 500rations และปลดพวก scout+outpost กลับเมือง)
  • เมือคุณเตรียมตัวตาม objective ครบ เกมจะจบลง

ฉากจบที่เป็นไปได้มี 3 แบบ
1. รอดทั้ง2เมือง
2. เรารอด แต่ New Manchester พินาศ
3. New Manchester รอด แต่เมืองเราเองพินาศ (ใช่ครับ จบแบบนี้ได้ด้วย)

เกร็ดเพิ่มเติม
- The Arks เป็นฉากที่เหมาะกับการเก็บ achievement หลายๆอันเป็นอย่างมาก เพราะเนื่องจากประชากรน้อยจึงเรื่องน้อยกว่า คุณจะดูแลความเป็นอยู่ของประชากรจำนวนหยิบมือนี้ได้ง่ายมาก
สรุปเหตุการณ์ The refugees


เนื้อเรื่องเริ่มต้น : คุณต้องคอยดูแลประชากรกลุ่มหนึ่ง คนเหล่านี้เป็นชนชั้นแรงงานที่อพยพหนีสังคมเดิมๆที่มีการแบ่งแยกชนชั้นมาใฝ่หาชีวิตอิสระของตนเอง พวกเขาขโมยเรือของพวกขุนนางและเดินทางรอนแรมมาจบพบกับเตากำเนิดพลังงานที่ถูกทิ้งร้างเอาไว้จึงได้ตัดสินใจตั้งเมืองใหม่ที่นี่ พวกเขาจะทำสำเร็จหรือไม่ ยิ่งกว่านั้นพวกเขาจะสร้างสังคมที่มีความเท่าเทียมกันขึ้นมาได้หรือไม่

  • เริ่มมาจะมีประชากรไม่กี่คนให้คุณใช้สอย แต่ไม่นานหลังจากนั้นกลุ่มผู้อพยพจะทยอยเดินทางมาที่เมืองของคุณโดยเว้นระยะห่าง 1-2 วันต่อชุด คนเหล่านี้เมื่อมาถึงจะอยู่ในสภาพหิวและจะกิน Rations เมื่อถึงเมืองคุณทันที คุณไม่สามารถปฏิเสธไม่รับคนเหล่านี้ได้
  • หน้าที่ของคุณคือต้องคอยบริหารคนจำนวนมาก หางานให้คนเหล่านั้นทำและดูแลปัจจัยพื้นฐาน เร่งวิจัยเทคโนโลยีเมื่อมี engineers เดินทางมาเพิ่ม
  • เมื่อรับครบ 10 ชุด หลังจากบริหารไปสักพักคุณจะได้รับแจ้งว่ามีกลุ่มชนชั้นขุนนาง(หรือชนชั้นปกครองจากระบอบสังคมเก่า) กำลังเดินทางมายังเมืองของคุณ ต้องรอรับกลุ่มขุนนาง 3 ชุด แต่ระชุดจะเว้นระยะห่างกันประมาณ 1-2 วัน
  • เมื่อพวกขุนนางมาถึงเมือง คุณจะพบว่าคนพวกนี้ไม่ได้พกอาวุธมา แถมยังหิวโหยและเจ็บป่วยไม่สบายอีกด้วย คุณเลือกได้ว่าจะรับทั้งหมดเข้ามาในเมือง(เอาคนป่วยไปรักษา) หรือรับเฉพาะคนสุขภาพดี หรือไม่รับใครเลย
  • หากคุณเลือกไม่รับใครเลย พวกกลุ่มขุนนางจะตั้งเต๊นท์อยู่ใกล้ๆเมือง และยิ่งไม่รับใครเลยหลายชุดพวกนี้ก็ยิ่งมีกำลังคนเพิ่มขึ้น เมื่อคุณเลือกกีดกันคนมากกว่ารับเข้ามา เกมจะขึ้นเตือนเราให้ป้องกันตัวเอง โดยสร้างโรงทหารอาสาสำหรับป้องกันเมือง (แพงมาก อันละ 500ไม้ 500เหล็ก)
  • คณะขุนนางชุดสุดท้ายที่เดินทางมายังเมืองของคุณคือ Lord Craven เขามาพร้อมผู้ป่วยจำนวนมาก ถ้าคุณรับเขาเข้ามาประชาชนบางส่วนจะไม่พอใจ และพยายามจะจับท่านลอร์ดแขวนคอ ถ้าคุณขัดขวาง ท่านลอร์ดจะหนีไปจากเมืองและทิ้งจดหมายขอบคุณเอาไว้ แต่หากคุณไม่ขัดขวาง ฝูงชนที่โกรธแค้นจะจับท่านลอร์ดแขวนคอไปเลย
  • หากคุณรับพวกขุนนางเข้ามามากกว่ากีดกันออกไป เมืองจะเริ่มเกิดความวุ่นวายเนื่องจากความแตกต่างของชนชั้น (จริงๆตอนนี้ก็ไม่มีชนชั้นแล้ว แต่สำหรับชนชั้นแรงงานนั้น ความโกรธแค้นเนื่องจากการโดนกดขี่ในอดีตยังคงอยู่ ส่วนพวกขุนนางเองก็ยังเคยตัวกับอภิสิทธิ์ที่พวกตนได้รับเช่นกัน) การรักษาความสงบเรียบร้อยของเมืองคือคุณต้องลดค่า discontent ลงมาน้อยกว่า 25% และเพิ่มค่า hope ให้มากกว่า 50% เมื่อทำได้ก็จบเกม

ฉากจบมี 2 แบบ
- คุณสร้างสังคมที่ปราศจากการแบ่งแยก และอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
- คุณสร้างสังคมที่พวกขุนนางเก่ากลับกลายเป็นทาส ชนชั้นแรงงานกลายเป็นผู้ปกครอง

เกร็ดเพิ่มเติม
- คุณอาจส่ง scout สำรวจไปเรื่อยๆจนพบซากเรืออัปปาง เราจะทราบทีหลังว่านั่นเป็นเรือรบของพวกขุนนางที่ถูกส่งให้ไล่ตามพวกผู้อพยพที่ขโมยเรือหนีมา พวกเขาได้รับคำสั่งจาก Lord Craven ให้ยิงเรือของผู้อพยพได้ทันทีเมื่อพบเห็น
เปรียบเทียบ3ฉากและระดับความยาก


อันนี้แน่นอนว่าใช้เกณฑ์ตามความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ (เต็ม10)
  • New home : normal = 6 / hard = 8
  • The Arks : normal = 4 / hard = 7.5 (good ending)
  • The Refugees : normal = 7 / hard = 8.5 (good ending)

เปรียบเทียบแต่ละฉาก
  • New home เป็นเนื้อเรื่องหลัก จึงยาวที่สุด เพราะมีเหตุการณ์ต่อเนื่องจำนวนมาก และมีสถานที่ให้สำรวจมากที่สุด (ผู้เล่นใหม่ควรเล่นฉากนี้เป็นฉากแรก)
  • The Arks เหมือนเป็นฉากที่เราเรียนรู้ที่จะใช้งานหุ่น ซึ่งทำไม่ได้ก็ไม่ผ่านแน่ๆ เพราะในฉากไม่มีกลุ่มผู้รอดชีวิตกลุ่มอื่นๆเลย ทรัพยากรที่คุณขาดแคลนที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง ต้องเร่งผลิตหุ่นให้ทัน เพราะการผลิตหุ่นออกมาแต่ละตัวจะทำให้เกมง่ายขึ้นเรื่อยๆ
  • The Refugees เป็นฉากที่ตรงข้ามกับ The Arks อย่างสิ้นเชิง โดยมันจะให้ทรัพยากรมนุษย์มาจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งเร็วจนเทคโนโลยีและโรงงานของคุณยังไม่พร้อม ดังนั้นคนจำนวนมากก็เป็นภาระมาก กินอาหารมาก และมีโอกาสเจ็บป่วยให้คุณรักษาได้มาก มันเป็นด่านที่ชี้วัดว่าคุณจะแปลงจนจำนวนมากทึ่เป็นภาระเหล่านี้ ให้กลายเป็นแรงงานและเติมเต็มความต้องการของทุกคนให้ครบถ้วนได้อย่างไร

คำแนะนำเพิ่มเติม
  • หากรู้สึกว่าเกมยากจนเกินไป แนะนำให้ลองเซฟเป็นระยะในการตัดสินใจสำคัญต่างๆ หากผิดพลาดจะได้โหลดกลับมาใหม่ได้ครับ นอกจากนี้ยังสามารถหยุดเกมเพื่อคิดวางแผนได้ทุกเมื่อ ควรเล่นอย่างรอบคอบ เน้นชัวร์มากกว่าเน้นเเร็ว หากพลาดอะไรไปก็อย่าตื่นตกใจ เพราะตัวเกมอนุญาตให้เซฟได้ตลอดเวลาแถมยังมีระบบ autosave อีก จึงสามารถเล่นแบบค่อยๆเดินทีละก้าวได้ ขอให้เก็บแต่ละความผิดพลาดมาเป็นบทเรียนเสมอ โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าหากใจเย็นๆ ทุกคนสามารถเล่นให้ผ่านได้อยู่แล้วครับ (แต่หากท่านต้องการเสพย์ความท้าทาย ก็ไม่มีอะไรดีไปกว่าเล่นพรวดเดียวยาวๆ และยอมรับผลกรรมจากเหตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นครับ)
แนวทางการวางผังเมืองที่น่าสนใจ
(ตัดสินใจเอาออกชั่วคราวก่อน เพราะดูชี้นำการเล่นสูงครับ)
รวมเทคนิคและหลักคิดต่างๆ


โดยภาพรวมนั้น Frostpunk เป็นเกมที่ประกอบไปด้วยหลัก 3 ปัจจัย (ผมเรียกว่า CPR) คือ City planning / Prioritization / Resource management
  • แก่นหลักของเกมคือการจัดการทรัพยากร (Resource management) คุณต้องบริหาร flow ของทรัพยากรให้ไหลลื่นไม่มีสะดุด ปรับจูนว่าจะเอาทรัพยากรอะไรมากน้อยผ่านการบริหารจำนวนคนงาน (ประหนึ่งการบริหาร cashflow ของธุรกิจเลย) ถ้าทรัพยากรอันใดอันหนึ่งติดขัดแล้วคุณไม่แก้ไขมัน ระยะยาวคุณจะมีปัญหาแน่นอน ตัวอย่างเช่น คุณขาดแคลนไม้ คุณนั่งรอไม้งอก 10 หน่วยต่อชั่วโมง ไม่แก้อะไรเพราะคนทำงานเต็มแล้ว แบบนี้เป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ หรือคุณจะยอมเสียสัก10ไม้เพื่อเปิดโรงเลื่อยเพิ่ม และโยกคนเก็บถ่านที่มีมากเกินไปมาช่วยเก็บไม้ และทำให้ไม้เพิ่มเร็วเป็น 2 เท่า
  • การจัดลำดับความสำคัญ (Prioritization) นอกจากจะเป็นการเลือกทรัพยากรมาสร้างสิ่งก่อสร้างใดก่อนหลัง การจัดลำดับความสำคัญยังจำเป็นอย่างยิ่งในการเลือกวิจัยเทคโนโลยีและปลดล็อคกฎหมายต่างๆ อะไรที่ปลดล็อคก่อนย่อมได้ใช้งานก่อน ทำให้เราตักตวงจากมันได้ก่อน (กฎหมายเมื่อเลือกแล้วเลือกเลย ต้องรอสักพักก่อนจะปลดได้ใหม่ด้วย) เกมนี้ลำดับการปลดล็อคสิ่งต่างๆไม่ตายตัวขึ้นกับสถานการณ์ในชั่วขณะนั้นๆ ทุกครั้งที่เลือกปลดล็อกอะไร ขอให้วิเคราะห์สถานการณ์แล้วถามตัวเองทุกครั้งว่าเราต้องการอะไรตอนนี้กันแน่
  • สุดท้ายเรื่องของการวางแผน (City planning) ควรคิดล่วงหน้าเรื่องการสร้างเมือง มี outline เมืองที่ต้องการในหัวคร่าวๆ เพื่อให้ไม่ต้องเสียเวลานั่งย้ายสิ่งก่อสร้างบ่อยๆในภายหลัง ทำให้สิ่งก่อสร้างพิเศษได้โบนัสเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งการจัดเมืองที่ดีจะช่วยให้ใช้พลังงานความร้อนได้คุ้มค่า ประหยัดจำนวนถ่านหินที่เสียไป (เมื่อเล่นไปเรื่อยๆ ตัวผมย่อมมีรูปแบบเมืองของผมในหัวไว้แล้ว และการสร้างแต่ละครั้งก็จะสร้างออกมาตามนั้นเสมอ แต่ผมขอละเรื่องผังเมืองเอาไว้ในที่นี้ เพราะไม่อยากให้มันดูชี้นำจนเกินไป)

เกี่ยวกับการวิจัย
  • จงมี workshop อย่างน้อย 4 โรง และใช้กะ 14 ชั่วโมง (6.00-20.00) กับทุก workshop ทันที
  • ควรเร่งวิจัย scout ให้มีอย่างน้อย 2 หน่วย และเร่งวิจัยเดินทางเร็วขั้น1ให้ไวที่สุด
  • หาจังหวะใช้ emergency shift 24hrs ใส่ workshop เพื่อเร่งสปีดการวิจัยเป็นระยะ
  • ควรมีลำดับการวิจัยในหัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 อันดับ (คือถ้าจบอันนี้จะวิจัยอันนี้ต่อ) มันจะช่วยให้คุณประมาณทรัพยากรที่ต้องใช้ต่อไปเพื่อให้งานวิจัยต่อเนื่องได้ หรืออย่างช้าคือคุณต้องคอยชำเลืองมองความก้าวหน้าการวิจัยด้านล่างซ้ายเสมอ หากเสร็จไป 75% ก็ต้องมาดูว่าเรามีทรัพยากรประมาณแล้วพอสำหรับวิจัยต่อไหม หากคุณทำตรงนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ การวิจัยย่อมราบรื่นไม่มีจังหวะสะดุดให้เสียเวลา
  • ขอให้จำไว้เสมอว่าควรมุ่งอัพเทคโนโลยีจำพวกเพิ่มทรัพยากร มากกว่าเทคโนโลยีที่ช่วยประหยัดทรัพยากร กล่าวคือ เน้นวิจัยเพิ่ม flow ขาเข้า มากกว่าลด flow ขาออก อย่างเช่น ถ่านหิน การวิจัยให้เตาประหยัดถ่านจะลดลง 10% ต่อขั้นเท่านั้น ขณะที่การวิจัยเหมืองถ่านหรือ thumper จะให้ถ่านมากขึ้นเป็นเท่าตัว ดังนั้นคุณควรอัพเทคโนโลยีเพิ่ม flow ทรัพยากรก่อน ควรปลดล็อคโรงงานขั้นต่อไปเรื่อยๆ หากหมดแล้วจริงๆค่อยกลับมาวิจัยอันที่ช่วยประหยัดทรัพยากรทีหลัง (ยกเว้น wall drill ที่การอัพแต่ละขั้นดูไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย)
  • การวิจัยสายประหยัดทรัพยากรที่ดูแล้วคุ้มค่าที่สุดสำหรับผมคือ ลดถ่าน steam hub (ขึ้นกับคุณมีมันมากแค่ไหนด้วย)
  • เรื่องเทคโนโลยีนั้น คุณควรปลดล็อค tier เทคโนโลยีต่อไป ก็ต่อเมื่อไม่มีเทคโนโลยีใดๆที่เราต้องการในขณะนี้ และคุณอยากปลดล็อคเพื่อมุ่งไปเลือกเทคโนโลยีอันใดอันหนึ่ง แต่ถ้าคุณปลดล็อค tier3 แล้วนึกได้ว่ามีของใน tier2 ที่คุณต้องวิจัย แบบนี้ถือว่าลำดับการวิจัยผิดพลาด อย่าลืมว่าอะไรปลดก่อนก็ได้ใช้ก่อน ดังนั้นคุณต้องไม่มีเทคโนโลยีที่อยากวิจัยณ.ขณะนั้นจริงๆจึงจะทำการปลดล็อค tier ต่อไป
  • คุณต้องชั่งน้ำหนักให้ดีระหว่างการทุ่มวิจัยเทคโนโลยีกับการเก็บทรัพยากร หากคุณมี workshop เยอะ แต่ทรัพยากรที่ต้องใช้ในการวิจัยติดขัด มันก็คือการเสียเวลาเปล่า คุณควรสร้าง flow ของไม้และเหล็กให้แข็งแรง ก่อนที่จะทุ่มเทให้กับการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

เกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์
  • เกมนี้มีทรัพยากรที่มองไม่เห็นคือ เวลา และทรัพยากรที่มองเห็นแต่ถูกละเลยคือ ทรัพยากรมนุษย์
  • จงมองประชากรเป็นทรัพยากรหนึ่งเสมอ และเป็นทรัพยากรที่ทำให้ได้มาซึ่งทรัพยากรอื่นๆในอนาคตอีกด้วย เมืองใดๆจะเติบโตได้ต้องอาศัยประชากรเป็นปัจจัยหลัก เมืองที่ประชากรเยอะย่อมมีผลิตภัณฑ์มวลรวมสูง ทำให้เมืองพัฒนาไปได้ไวกว่าเสมอ
  • จากข้อข้างต้นขอให้พึงระลึกไว้ว่า อย่าปฏิเสธพร่ำเพรื่อเวลามีคนขออพยพมาอยู่ด้วย คุณไม่ต้องแก้ปัญหาระยะสั้นก็จริง แต่ระยะยาวเมืองคุณก็จะพัฒนาได้ช้าเช่นกัน เพราะในฉากต่างๆมันมีจำนวนประชากรรวมทั้งหมด(จากscoutและevent) จำนวนจำกัด
  • สำหรับผู้เขียน ถ้ามีคนอพยพมา70คน จำนวนนี้ป่วย50คน และเรามีกำลังการรักษาแค่10คน ผมจะเลือกรับทั้งหมด70คนและเปิดสถานพยาบาลเพิ่ม ดีกว่ารับแค่คนไม่ป่วย20คนและเตะที่เหลือทิ้ง
  • ตอนแรกๆที่คุณมีประชากรจำกัด เมื่อ18.00น.อาจต้องสลับประชากรที่เลิกงานกะเช้าไปล่าสัตว์หาอาหารตอนกลางคืน และเมื่อกลับมาตอนเช้าก็ให้เขาไปทำงานกะเช้าต่อได้เลย
  • บริหารกะการทำงานให้ดี กะ14ชม.(6.00-20.00)นั้น ให้เนื้องานมากกว่ากะ10ชม.(8.00-18.00) ถึง 40% เมื่อเราขาดแคลนทรัพยากรใดควรตั้งให้สิ่งนั้นทำงาน14ชม. หรืออย่างน้อยๆคุณก็ควรใช้กับทุก workshop
  • ช่วงต้นถึงกลางเกม ควรหางานให้ทุกคนทำ ไม่มีคนว่างงาน แต่ถ้าคุณอยากสร้างสิ่งก่อสร้างเร่งด่วนค่อยจัดให้มีคนว่าง 5-10 คน

เกี่ยวกับหุ่นยนต์ automaton
  • หุ่นยนต์ automaton ทำงานได้ 24 ชม. และไม่สนความหนาวเย็น คุณสามารถส่งมันไปทำงานที่โรงเลื่อยอันหนาวเหน็บกลางป่าได้ อย่าลืมปิด heater ในที่ๆหุ่นพวกนี้ทำงานเพื่อประหยัดถ่านด้วย
  • หุ่นยนต์ automaton ต้องเติมเชื้อเพลิงตาม steam hub ที่ใกล้ที่สุดหรือไม่ก็ที่เตาพลังงานหลัก แม้ว่าจะปิด steam hub เพื่อประหยัดถ่านหุ่นก็ยังคงเติมพลังงานได้ตามปกติ แต่ในกรณีที่เตาหลักหยุดทำงาน หุ่นจะไม่สามารถเติมพลังงานที่ไหนได้เลย และหยุดการทำงานในที่สุด
  • หุ่นยนต์ automaton มีประสิทธิภาพเริ่มต้นที่ 60% และวิจัยเพิ่มทีละ 10% ได้ 3 ขั้น (รวม 90%) อย่างไรก็ตามมันทำงานได้ 24 ชม. ดังนั้นที่ประสิทธิภาพ 60% มันจึงได้เนื้องานวันละ 14.4 ชม. (0.6x24) มากกว่าคนงานที่เข้ากะ14ชม.(6.00-20.00)เสียอีก ยิ่งกว่านั้นคือ flow ทรัพยากรที่เข้ามาจะมีความสม่ำเสมอทั้งวัน ทำให้คุณบริหารจัดการมันได้ง่ายกว่า (คุณเคยอยู่เหงาๆตอนกลางคืนเพราะทรัพยากรไม่พอทำอะไรเลยหรือไม่) รวมๆแล้วหุ่นจึงเหมาะสมที่จะนำมาช่วยเก็บทรัพยากรที่คุณต้องการที่สุดในตอนนั้น
  • การ micro หุ่น automaton สมมุติว่าผมต้องการเหล็กมากแต่ไม่อยากใช้ emergency shift 24 hrs ผมจะเลือกให้คนไปทำงานเก็บเหล็กช่วงเช้า (เพราะประสิทธิภาพเมื่อใส่คนเต็มจำนวนคือ 100%) เมื่อคนพักไปนอนตอนกลางคืนค่อยเอาหุ่นมาทำงานเก็บเหล็กต่อ (ประสิทธิภาพหุ่นจะเริ่มที่ 60% จนกว่าจะได้รับการอัพเกรด)
  • steam core มีการใช้ 2 อย่างหลักๆ คือผลิตหุ่นหรือทำโรงงานบางชนิด หากคุณมีแรงงานมนุษย์เพียงพอก็ให้เลือกทำพวกโรงงานก่อน ควรเริ่มทำหุ่นต่อเมื่อคนทำงานไม่พอหรือกำลังเข้าช่วงท้ายเกม ตอนท้ายๆคุณอาจมีหุ่นติดไว้อย่างน้อย 1-2 ตัว สำหรับโยกไปช่วยเก็บทรัพยากรที่ขาด
  • Foreman มีผลกับ automatons ด้วย (ขณะที่ Agitators ไม่มีผล)
  • สำหรับผู้เขียน ชอบสละเวลามาวิจัยปลดล็อคหุ่น engineer ใน tier5 ซึ่งเมื่อทำได้ปั๊บ ให้เอาหุ่นไปใส่ workshop 1 โรง และหลังจากนั้นผมก็จะวิจัยได้ต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน
  • ขอยืนยันว่าคุณสามารถจบเกมได้โดยไม่ต้องใช้หุ่นแม้แต่ตัวเดียว (ยกเว้น The Arks)

เกี่ยวกับการออกตัวอย่างรวดเร็วและสวยงามในแต่ละฉาก
  • ในทุกฉาก เริ่มแรกขณะอุณหภูมิ -20 องศา คุณแค่สร้างเต๊นท์ให้คนอยู่ก็พอ ไม่จำเป็นต้องเปิดเตาแต่แรก (แม้ว่าเกมจะเตือนคุณทุกคืนก็ตาม) ค่อยเปิดตอน -30หรือ-40 การที่เปิดเตาช้าไม่เพียงแค่ทำให้คุณประหยัดถ่านหินไปหลายวัน แต่ยังทำให้คุณออกสตาร์ทได้เร็วเพราะเอาคนไปมุ่งเก็บทรัพยากรอื่นๆก่อน เหลือถ่านหินไว้ทีหลัง
  • ในวันแรก เราจะเริ่มมาพร้อมทรัพยากรเริ่มต้นจำนวนหนึ่ง ไม่ควรส่งคนไปเก็บทรัพยากรมั่วซั่ว สิ่งที่ต้องการจริงๆช่วงแรกคือ ไม้80% เหล็ก20% การเพิ่ม output ไม้ให้ถึงขีดสุดคือ สร้าง Gathering post เก็บไม้ และเอาคนงานเก็บไม้ต่างหากอีกซ้อนทับลงไป โดยรวมคือคุณต้องใช้ Gathering post ให้เป็น มันจำเป็นอย่างยิ่งในระดับความยากสูงๆเพราะการเอาคนลุยหิมะเก็บของเพียวๆในวันแรกๆจะทำให้คนป่วยได้ง่าย
  • หากคุณเลือกเก็บทรัพยากรถูกต้อง ในคืนแรกจะมีเต๊นท์ให้ทุกคน Medical post 1 แห่ง workshop 1-2 แห่ง และ gathering post 2-3 แห่งได้สบาย (normal)

เทคนิคอื่นๆ (ที่ยังไม่มีหมวดหมู่)
  • เมื่อมีกลุ่มคนเดินทางมายังเมืองของคุณ คุณสามารถส่ง scout ไปรับคนกลุ่มนั้นๆให้เดินทางมาถึงเร็วขึ้นได้ (เป็นการเร่งจังหวะเควส หากคุณต้องการคนมาทำงานเพิ่มเร็วๆ) รวมไปถึงเวลาให้ scout สำรวจเจอผู้รอดชีวิต คุณอาจให้ประชาชนเดินทางมาเมืองเอง แล้ว scout อีกตัววิ่งมารับช่วงต่อพาคนกลับเมืองได้ (การที่ปล่อยคนเดินกลับเมืองเองจะใช้เวลานานกว่าเสมอและมีโอกาสเจ็บป่วย)
การเล่น Frostpunk ของข้าพเจ้า



ลำดับการเล่น
  • New Home (normal) - 2try
  • The Arks (normal) - 1try
  • The Refugees (normal) - 2try
  • New Home (hard) - 1try
  • The Arks (hard) - 1try
  • The Refugees (hard) - 1try
  • หลังจากนั้นเป็นการเล่นเพื่อเก็บ achievement
  • เมื่อเก็บ achievement จนพอใจ ก็เป็นการเล่นเก็บข้อมูลเขียนบทสรุป
หมายเหตุ
- จบ New Home (normal) ใช้เวลา 8 ชม.
- จบ normal ทั้ง 3 ฉาก ใช้เวลา 18 ชม.
- จบ hard ทั้ง 3 ฉาก ใช้เวลา 14 ชม. (รวมทั้งสิ้นแต่เริ่ม 32 ชม.)
- New Home ใช้ 2try เนื่องจากการโหลดฉากเล่นใหม่ (แบบตัดสินใจแล้วว่ารอบแรกคือรอบเรียนรู้)
- The Refugees ใช้ 2try เนื่องจากการโหลดเซฟเพราะตัดสินใจผิดพลาด
- นอกจากนี้ไม่เคยมีการโหลดเซฟใดๆ ยกเว้นเกมแครชหรือเป็นการเล่นเพื่อเก็บ achievement ปลีกย่อย

โดยรวมชอบเกมบริหารจัดการทรัพยากรแบบนี้มาก
ความพึงพอใจใน Frostpunk 9/10
22 Comments
NeenJhaa 14 Jun, 2023 @ 2:13am 
ขอบคุณมากครับ:summer2019corgi::steamthumbsup:
Smog 16 Jan, 2023 @ 11:20pm 
ขอบคุณมากครับ
ShyHope 19 Nov, 2021 @ 8:50am 
Very Good
I AM LORE 12 Jun, 2021 @ 6:18pm 
อยากให้เพิ่ม สรุปข้อมูลด่านใหม่ๆ กับ ENDLESS MODE ครับผม
Chodose 4 Jun, 2021 @ 9:52am 
ขอบคุณครับ
Violent 22 Jan, 2020 @ 8:22pm 
กระจ่างเลย ถึงว่าเล่น Survival ไม่รอดสักที 10/10
JazzWalker 13 Oct, 2019 @ 12:25pm 
อยากให้มีสรุปเหตุการณ์ Fall of Winterhome ครับ
ล่าสุดพึ่งเล่น The ark กับ The refugees จบ
The ark หลังๆง่ายมาก พอมีหุ่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะไปยากตรงต้องช่วย New Manchester ให้ได้ ผมใช้ 2TRY ถึงจะจบแบบช่วยไว้ได้
The Refugee ยากอยู่ครับ แต่ผมจบแบบ Good End มาได้ ค่อนข้างเหนื่อยเอาเรื่องเพราะบริหาร Coal กับ Steel ไม่ค่อยดี แล้วก็มีทรัพยากรอย่างอื่นไม่ค่อยเหลือใช้ ทำให้บางที flow ของทรัพยากรมันชะงัก :cozynier:
杨涟 17 Feb, 2019 @ 12:47am 
เครื่องทำความร้อนมีผลกับเฉพาะจุดต่อไปนี้สาม:
1.ถ้าไม่ถึง 18.00 นาฬิกาโดยระดับความร้อน "สะดวกสบาย" ในช่วงบ่าย
จะเรียก "เย็นบ้าน" พล็อตการประท้วง
2.เมื่อความร้อนถึง "น่าอยู่" อุณหภูมิ,ค่าในการขจัดความไม่พอใจภายในหนึ่งชั่วโมง
3. 0:00~3:00 ไม่ใช้เครื่องทําความร้อน ,คนไม่มีบ้านจะตาย
杨涟 17 Feb, 2019 @ 12:46am 
ให้สหายบางส่วนของคําแนะนํา(ฉันเพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้ภาษาไทย,หากมีข้อผิดพลาดทางไวยากรณ์ โปรดให้อภัยฉัน.Mon thaï n'est pas particulièrement bon. S'il y a une erreur grammaticale, s'il vous plaît pardonnez-moi.)
ดังนั้นจะต้องมี 17 : 00 ~18:00 ความร้อน
杨涟 17 Feb, 2019 @ 12:46am 
23333